บะหมี่ – พลอยจะเพลิน เผ่าพันเลิด นักวาดภาพประกอบที่เริ่มวาดรูปตั้งแต่ในความคิด

257 views
5 mins
November 29, 2023

          ในประเทศไทย Illustrator หรือ นักวาดภาพประกอบ แม้จะเป็นอาชีพที่มีการแข่งขันสูง และถูกจำกัดอยู่ในตลาดที่แคบ แต่เราก็ยังสามารถเห็นความเติบโตของแวดวงนักวาดภาพประกอบชาวไทยได้เสมอ อย่างเช่นความเติบโตของ ployjaploen.p  หรือ บะหมี่ – พลอยจะเพลิน เผ่าพันเลิด เจ้าของลายเส้นน่ารักยียวนที่เราอยากชวนทุกคนมารู้จัก

          นักอ่านหลายคนอาจจะรู้จักพลอยจะเพลินในนามของนักวาด นักเขียน เจ้าของผลงาน “10 THINGS I HATE ABOUT MAOHAI บ้านนี้หมาไม่เห่า” ไดอารีว่าด้วยเจ้าหมาบาเซนจิตัวป่วนประจำบ้านกันบ้างแล้ว แต่ลายเส้นของเธอไม่ได้จบอยู่ที่ตรงชั้นหนังสือเท่านั้น เพราะผลงานในนาม ployjaploen.p ได้ไปอวดโฉมในเวทีโชว์เคสระดับนานาชาติมาแล้วหลายต่อหลายชิ้น

          แรงบันดาลใจในการวาดของพลอยจะเพลินมาจากไหน และอะไรทำให้เธอสร้างสรรค์ความยียวนที่ชวนให้หลงรักเช่นนี้ขึ้นมาได้ บทสนทนาต่อไปนี้คือสิ่งที่เราอยากบันทึกไว้เป็นหลักฐานการเติบโตของนักวาดคนนี้

บะหมี่ – พลอยจะเพลิน เผ่าพันเลิด นักวาดภาพประกอบที่เริ่มวาดรูปตั้งแต่ในความคิด
Photo: ployjaploen.p

บะหมี่ – พลอยจะเพลิน เผ่าพันเลิด นักวาดภาพประกอบที่เริ่มวาดรูปตั้งแต่ในความคิด
หนังสือ 10 THINGS I HATE ABOUT MAOHAI บ้านนี้หมาไม่เห่า
Photo: ployjaploen.p

จุดเริ่มต้นในการวาดๆ เขียนๆ

          ชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กเลยค่ะ แล้วพ่อแม่ก็สนับสนุนมาก เราวาดแล้ว เขาก็เชียร์ให้วาดอีก ก็เลยวาดมาเรื่อยๆ แล้วก็ไม่ค่อยมีความสนใจอื่นเท่าไร (หัวเราะ) จำได้ว่าตอนเด็กๆ ก็ไม่ได้ชอบเรียนหนังสือ ไม่ได้ชอบทำอย่างอื่น เลยโฟกัสแต่การวาดรูป

          พอช่วงมัธยมปลาย ครูในชมรมคอมพิวเตอร์ก็จะส่งเด็กประกวดทำแอนิเมชัน เรากับเพื่อนก็รวมทีมไปแข่งกัน ตอนนั้นน่าจะเป็นงานจริงจังครั้งแรก เป็นการวาดรูปที่ไม่ได้รู้สึกว่าวาดเล่นแล้ว ไปประกวดวาดรูป ไปแข่งแอนิเมชัน แข่งหลายอย่าง ช่วงมหาวิทยาลัยก็ไปเรียนสาขา Communication Design การออกแบบสื่อสาร ซึ่งอยู่ในคณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์ แล้วก็ทำงานด้านนี้มาตลอดเลยค่ะ

ถ้าให้อธิบายงานของตัวเอง จะบอกว่ามันเป็นงานแบบไหน

          ถ้าสั้นๆ ก็คิดว่ามันเป็นงานที่มีความสนุก ลายเส้นตัดทอน แล้วก็มีความตลกร้ายอยู่ด้วย เราชอบอะไรตลกๆ สนุกๆ แต่ว่าก็ชอบใส่ความดาร์กไปนิดหนึ่งไว้ตัดเลี่ยน แล้วก็ชอบหยิบประเด็นหรือเรื่องบางอย่างที่ดูเครียดมาเล่าฮาๆ ให้มันไม่หนักมาก ซึ่งมันอาจจะมาจากวิธีการมองโลกของตัวเองด้วยส่วนหนึ่ง เวลาเจออะไรหนักๆ ก็อยากมองให้มันเป็นเรื่องขำ แต่ก็ไม่รู้ว่ามันดีหรือเปล่านะ (หัวเราะ)

          อีกอย่างก็คือ ชอบวาดรูปสิ่งมีชีวิตค่ะ ชอบวาดสิ่งที่มันมีสีหน้า ท่าทาง อารมณ์ ความรู้สึก ชอบวาดของที่มีการเคลื่อนไหว ถึงจะวาดภาพนิ่งก็ยังชอบวาดให้มีความรู้สึกว่ามันเคลื่อนไหว แล้วเราก็ค่อนข้างชอบวาดของที่มันไม่จริง ไม่ค่อยชอบวาดของที่มันมีอยู่จริงเท่าไร ถ้าวาดก็จะหยิบของที่มีอยู่จริงมาดัดให้มันเหนือจริงหน่อย เรารู้สึกว่าแบบนั้นสนุกกว่า 

          ถ้าในขั้นตอนการทำงานทั้งหมด เราค่อนข้างชอบเวลาที่เราคิดมากกว่า ตอนทำก็สนุกนะ แต่รู้สึกว่าตัวเองไปโฟกัสตรงการคิดเรื่อง คิดคอนเซปต์มากกว่า แล้วการวาดรูปเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องในหัวเราออกมา มันก็จะมีงานที่มีบรีฟมาละเอียดมากๆ แล้ว เหมือนให้เราเป็นคนวาดเฉยๆ ก็ทำได้นะคะ แต่อาจจะไม่ได้สนุกเท่ากับงานที่ได้คิดเอง หรือถ้าให้เราคิดงานแล้วให้คนอื่นวาด เราว่าเราก็อาจจะยังสนุกกับมันอยู่ดี

          เราคิดว่าตัวเองยังไม่ได้ทำงานมายาวนานมาก แต่ก็โชคดีที่ได้ลองมาหลายมีเดีย แล้วพอได้ลองก็รู้สึกว่า งานที่ชอบมันไม่ได้จำกัดอยู่ที่สื่อเลยค่ะ แต่มันจะอยู่ที่เรื่องราวมากกว่า เราชอบงานที่มีเรื่องเล่า อย่างแอนิเมชันกับการ์ตูน มันก็เป็นงานที่ต้องมีสตอรีไลน์ ต้องมีเหตุการณ์ต่อเนื่อง ต้องมีอะไรเกิดขึ้นในงานนั้นด้วย

บะหมี่ – พลอยจะเพลิน เผ่าพันเลิด นักวาดภาพประกอบที่เริ่มวาดรูปตั้งแต่ในความคิด
Photo: ployjaploen.p

บะหมี่ – พลอยจะเพลิน เผ่าพันเลิด นักวาดภาพประกอบที่เริ่มวาดรูปตั้งแต่ในความคิด
Photo: ployjaploen.p

อะไรทำให้ชอบวาดรูปมาเสมอจนถึงทุกวันนี้

          ถ้าตอบว่าเงินก็จะตลกใช่ไหม อันนั้นคือเหตุผลของทุกคนเนอะ (หัวเราะ) เราไม่รู้ว่าคนอื่นคิดเหมือนเราไหม แต่อย่างที่เราบอกว่าเราโฟกัสกับการคิดเรื่องค่อนข้างเยอะ มันเลยทำให้เราไม่เบื่อ เพราะแต่ละงานที่เราทำ เรื่องมันไม่เหมือนกันค่ะ 

          ปกติเป็นคนชอบคิดโจทย์อยู่แล้ว ต่อให้ไม่ใช้งานลูกค้า บางทีเราก็คิดโจทย์ให้ตัวเองเหมือนกัน ว่าเราอยากเล่าเรื่องอะไร ถ้ามันเป็นเรื่องนี้เราจะเล่าอย่างไรให้มันกระทบใจคนได้ หรืองานลูกค้าบางเจ้าที่เขาให้วัตถุดิบเรามาประมาณหนึ่ง เราก็ยังสามารถสนุกกับการเอามาแปลงเป็นสิ่งที่ทั้งเราชอบและเขาชอบด้วย

          บางทีทำงานที่มันอิสระมากๆ อาจจะทำให้เราติด Comfort Zone ตัวเอง เช่น ถ้าเรารู้ว่าเราวาดประมาณนี้แล้วมันออกมาดี เราถนัดแต่แบบนี้ แล้วเราก็ยังทำแบบเดิมไปเรื่อยๆ มันก็อาจจะทำให้เบื่องานตัวเองได้เหมือนกัน การมีโจทย์หรือมีเงื่อนไขให้งานมันจะบีบบังคับให้เราท้าทายตัวเองมากขึ้น แม้ว่าเราจะทำสิ่งเดิมเหมือนกันทุกวัน ก็คือการวาดรูป ถ้าเรื่องที่คิดมันเปลี่ยนไปทุกวัน สิ่งที่เราอยากเล่ามันเปลี่ยนไปทุกวัน เราก็จะไม่เบื่อค่ะ   

          แค่วันนี้เราไปเจอเรื่องที่ไม่เหมือนเมื่อวาน หรือปีหน้า ปีต่อๆ ไป เราโตขึ้น แล้วเรามีทัศนคติที่ไม่เหมือนเดิมแล้ว เรื่องที่เราอยากเล่าก็จะเปลี่ยนไปเหมือนกัน น่าจะเป็นสิ่งนี้แหละค่ะที่ทำให้เราไม่เบื่อการวาดรูปเลย

ประสบการณ์แสดงงานในต่างประเทศ 

          เริ่มจากช่วงที่เรียน ปี 2 เลยค่ะ ตอนนั้นญี่ปุ่นมีแคมเปญครบรอบของรถไฟชินคันเซ็น เอเจนซีที่ญี่ปุ่นที่เขาเป็นคนทำแคมเปญนี้เขาอยากได้ศิลปินต่างชาติมาทำแคมเปญ ก็เลยมีการหาต่อๆ กันมา แล้วเราลงงานใน Facebook ตัวเองบ่อย บางทีวาดรูปเล่น ทำแอนิเมชันเล่นๆ ก็ลง เลยมีพี่คนหนึ่งแนะนำให้เราลองส่งพอร์ตไป ทางญี่ปุ่นเขาก็เลือกให้เราเป็นคนหนึ่งที่ไปวาดในแคมเปญนี้ แต่ศิลปินมีหลายคนนะคะ มีคนในประเทศอื่นๆ ด้วย

          พอเลือกแล้ว เขาก็มาบรีฟเราว่า อยากให้วาดแอนิเมชันที่เป็นการโปรโมตเรื่องอะไร ศิลปินแต่ละคนจะได้หัวข้อไม่เหมือนกัน ส่วนของเราได้เรื่องร้านอุด้งในสถานี (หัวเราะ) แล้วตอนหลังก็มีทำเพิ่มไปอีกชิ้นหนึ่ง เป็นเรื่องมารยาทในการใช้รถไฟค่ะ (ดูผลงานได้ที่ fori.io/ployjaploen)

          ล่าสุดเลยก็มีโอกาสไปที่ Taipei Illustration Fair ของปีที่แล้ว (ปี 2022 – ผู้เรียบเรียง) ประสบการณ์ต่างจากที่กรุงเทพเยอะมากค่ะ แต่ก็สนุกดี มีหลายคนที่เขาชอบงานเรามาก ก็พยายามคุย พยายามใช้ Google Translate ทั้งที่จริงอาจจะคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่เหมือนอยากคุยด้วยมากๆ

บะหมี่ – พลอยจะเพลิน เผ่าพันเลิด นักวาดภาพประกอบที่เริ่มวาดรูปตั้งแต่ในความคิด
Photo: ployjaploen.p

บะหมี่ – พลอยจะเพลิน เผ่าพันเลิด นักวาดภาพประกอบที่เริ่มวาดรูปตั้งแต่ในความคิด
Photo: ployjaploen.p

มีผลงานชิ้นหนึ่งที่วาดให้ต่างประเทศ เล่าถึงการตีกรอบความคิดสร้างสรรค์ในห้องเรียนไทย อะไรคือแรงบันดาลใจให้วาดภาพนั้น และคิดว่าทำอย่างไรเด็กไทยถึงจะมีความคิดสร้างสรรค์

          พอดีทางสำนักพิมพ์เขาอยากให้เล่าประเด็นเกี่ยวกับประเทศของตัวเอง เรื่องไหนก็ได้ แล้วตัวเองเป็นคนสนใจเรื่องเด็ก เรื่องโรงเรียนอยู่แล้ว เลยเลือกทำเรื่องนี้ เพราะตอนเด็กๆ โรงเรียนที่เราเรียนอยู่ ทั้งกฎระเบียบและวิธีการเรียนการสอนค่อนข้างจะมีกรอบเยอะมาก ไม่ค่อยได้คิดเองทำเองเท่าไหร่ พอเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนั้นบ่อยเข้าก็จะเริ่มกลัวที่จะคิดเอง กลัวว่าที่ทำอยู่จะถูกหรือผิด

เพราะแบบนี้หรือเปล่า ศิลปินต่างประเทศที่เคยมาทำงานวิจัยในประเทศไทย เคยเล่าให้ฟังว่า เวลาให้เด็กไทยวาดรูป เด็กวาดออกมาเป็นแพทเทิร์นเดียวกันหมดเลย

          อ๋อ ตอนที่เราติวเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในสายศิลปะ ก็ยังมีแพทเทิร์นเลยนะคะ (หัวเราะ)  ว่าต้องวาดแบบนี้นะ แรเงาแบบนี้นะ เหลาดินสอแบบนี้ ก็สงสัยเหมือนกันว่าเลือกเรียนมาทางสายอาร์ตแล้วแต่ก็ยังมีกรอบอยู่อีกเหรอ

          โดยส่วนตัวคิดว่า โรงเรียนในไทยให้โจทย์ที่ค่อนข้างแคบเวลาสั่งงานให้เด็กๆ ไม่ค่อยมีโจทย์ปลายเปิดหรือพื้นที่ให้ถกหรือแลกเปลี่ยนกันในห้องเรียนเท่าไหร่ ว่าเด็กคนนี้คิดแบบนี้ เด็กอีกคนคิดยังไง แล้วครูล่ะคิดยังไง นี่คือตอนที่เราเรียนนะคะ เหมือนเรารับสารมาทางเดียว ไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเท่าไหร่

คิดว่านักวาดในประเทศไทยได้รับการส่งเสริมเพียงพอหรือไม่ ควรมีการส่งเสริมเพิ่มเติมอย่างไร

          ค่อนข้างน้อยนะคะ ถ้าเทียบกับประเทศอื่น ที่ต่างประเทศมีทุน มีโครงการต่างๆ  ให้ศิลปินไปต่อยอดพัฒนางานของตัวเอง และมีพื้นที่ให้ทำงานศิลปะค่อนข้างมาก มีอีเวนต์ให้ศิลปินไปออก มีพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี ในต่างประเทศคนเสพงานศิลปะกันเป็นปกติ ในขณะที่ในประเทศไทยมีแค่คนสายศิลปะ ศิลปิน หรือคนที่ชื่นชอบศิลปะเท่านั้นที่จะสนใจ สายอื่นๆ ยังไม่ได้เข้าใจตัวงานมากขนาดนั้น ว่าอาชีพนี้ทำอย่างไร เลี้ยงชีพได้ไหม อาจจะเพราะที่ไทยอะไรหลายๆ อย่างยังไม่ค่อยพร้อมด้วย ศิลปะยังถือว่าเป็นของฟุ่มเฟือย มันก็ยากที่เราจะนึกถึงศิลปะได้ ถ้าตรงจุดอื่นๆ ยังลำบากอยู่

ความแตกต่างระหว่างการทำงานในไทย และการแสดงงานในต่างประเทศ

          เรารู้สึกว่าตอนเราไปไต้หวัน คนที่เดินในงานไม่ได้เยอะเท่าในกรุงเทพ อาจจะเพราะว่าที่กรุงเทพ งาน Illustration Fair มันไม่ค่อยมี แต่ที่ไต้หวัน เขาจัด Illustration Fair เยอะอยู่แล้ว จัดบ่อย จัดหลายที่ คนก็เลยกระจายกันไป ตลาดเขาก็น่าจะใหญ่กว่าด้วย

          มันเลยทำให้เห็นว่าพวกพื้นที่สาธารณะที่เรามี ยังไม่ได้เป็นพื้นที่สำหรับศิลปะมากเท่าไร ในต่างประเทศมันมีพื้นที่แบบนี้เยอะมากๆ มันมีพื้นที่ใช้โชว์งานมากกว่าอย่างเช่น Illustration Fair ในไทยตอนนี้มีแค่ที่เดียว แต่ในต่างประเทศมีหลายเจ้า เลยทำให้เราเห็นประเภทของงานที่หลากหลายกว่านี้ รวมถึงการสนับสนุนอย่าง Artist in Resident ด้วย 

บะหมี่ – พลอยจะเพลิน เผ่าพันเลิด นักวาดภาพประกอบที่เริ่มวาดรูปตั้งแต่ในความคิด
Photo: ployjaploen.p

ทิศทางอาชีพนักวาดในประเทศไทย

          จริงๆ ตลาดในไทยก็มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วนะคะ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เอกชนออกมาจัดงานกันเยอะขึ้น รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้คนที่ไม่ได้ทำงานสายวาดรูปก็ยังเสพงานวาดมากขึ้น ตลาดนัดงานศิลปะมันก็เยอะขึ้น อาจจะแปลว่าคนเดินเยอะขึ้น ตลาดใหญ่ขึ้นแล้วหรือเปล่า คนทำงานศิลปะเราก็คิดว่าน่าจะมีเยอะเหมือนกัน แต่ก็รู้สึกว่าคอมมูนิตี้อาจจะไม่ใหญ่พอที่จะรองรับทุกคนขนาดนั้น ถ้าต้องแย่งกันมาโชว์งานในที่เดียวกัน รอการสนับสนุนจากที่เดียวกัน มันก็คงไม่ได้พอสำหรับการเติบโตของทุกคน

การแพร่หลายของ Generative AI มีผลต่ออาชีพนักวาดไหม

          คิดว่ามีผลอยู่นะคะ ถึงแม้ว่าในตอนนี้ AI อาจจะไม่ได้วาดออกมาสวยเท่ากับคนวาดมากนัก แต่ก็รู้สึกว่ามันมีผลกระทบอยู่ งานที่ไม่ได้ต้องการคุณภาพสูงหรือลายเส้นที่เป็นศิลปะมาก ผู้ว่าจ้างก็อาจจะพอใจแล้วก็ได้ นักวาดบางคนก็อาจจะใช้ AI มาช่วยทำงานก็ได้ แต่โดยส่วนตัวยังไม่ได้ลองใช้เท่าไหร่ สไตล์เรามันไม่ได้วาดนานอยู่แล้ว (หัวเราะ) ใช้เวลากับตอนคิดมากกว่า

หนึ่งเรื่องที่อยากบอกชาว Illustrator ทุกคน

          สิ่งหนึ่งที่คิดว่านักวาดรูปน่าจะเป็นกันเกือบทุกคน คือมีเรื่องที่ไม่มั่นใจในฝีมือตัวเองเยอะ… 

          เราก็เป็นบ้างเหมือนกัน เราจะรู้สึกว่าคนอื่นวาดละเอียด ดูอลังการ แต่เราวาดแบบนั้นไม่ได้ หรือเวลาได้งานใหญ่มา เราก็มักจะคิดว่าเราเก่งพอกับงานนี้หรือยัง บางคนก็อาจจะเทียบตัวเองกับคนอื่น ว่าตัวเองวาดไม่สวยเท่า พอไม่มั่นใจในตัวเองก็จะไม่อยากวาด ไม่อยากทำไปเลย แต่เรารู้สึกว่าต่อให้ไม่มั่นใจก็อยากให้วาดออกมาเยอะๆ ก่อน ถ้าไม่มั่นใจ และยังไม่ทำด้วย มันก็จะกลายเป็นว่าไม่ได้ทำอะไรเลย 

          ถ้าไม่มั่นใจ แต่ว่าทำ พอทำไปเรื่อยๆ เราก็อาจจะเก่งขึ้น แล้วเราก็จะเริ่มมั่นใจมากขึ้น ทำไปเรื่อยๆ งานมันก็จะพาให้เราไปเจอกับงานอื่นๆ ได้ จริงๆ นะ ไม่มีใครคิดอยากห้ามเราขนาดนั้นหรอก ถ้ามัวแต่ไม่กล้า คนที่ห้ามไม่ให้เราวาดรูปจริงๆ ก็อาจจะเป็นตัวเราเองนี่แหละ

บะหมี่ – พลอยจะเพลิน เผ่าพันเลิด นักวาดภาพประกอบที่เริ่มวาดรูปตั้งแต่ในความคิด
Photo: ployjaploen.p

ติดตามผลงานของ พลอยจะเพลิน เผ่าพันเลิด ได้ที่
          Instagram: ployjaploen.p
          Behance: ployjaploen p.
          foriio: ployjaploen.p

ที่มา

Cover Photo: ployjaploen.p

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก