‘The Moon Represents My Heart’ นิยายเดบิวต์ของนักเขียนไทยสู่ซีรีส์ใน Netflix

910 views
7 mins
November 7, 2023

The Memories come in waves 

and I’m thinking of you now more than I ever did when you were still alive.

I suppose when someone passes away

this is what you tend to do, you look back. 

You begin to see things you never noticed before.

First you pause, you search, but then you lie still and let the tide wash over you.
When you were here, I thought I knew you only in moments.
Flashes of memory started throughout the course of my 25 years of life
when you pass it my head after I beg you goodbye
using Chinese karaoke in your house
that smell of spices and incense
your smile when I came to you with my report card
how tightly you grip my hand when you were lying in the hospital bed
too weak to speak with tears rolling up in your eyes

I never thought that those flashes of moments
could ever count truly knowing you
I never thought we were alike in any way
I never thought that sharing the same blood would be enough
to make two silent strangers one and the same
oh how was I wrong
It took you being gone for me to realize
that in every punctuation
in every word
in every sentence
there’s a piece of you in everything I write

          ‘พิม หวังเดชะวัฒน์ปิดท้ายวงสนทนาเปิดตัว The Moon Represents My Heart นิยายเล่มแรกของเธอที่ร้านหนังสือ Lighthouse Bookshop เมืองเอดินบะระ ชื่อหนังสือที่เชื่อว่าถ้าเป็นคนไทยเชื้อสายจีนน่าจะคุ้นหู คุ้นเคยกับการมีเพลงนี้เป็นซาวนด์แทร็กประจำบ้าน ชื่อเพลงของเติ้งลี่จวิน (Teresa Teng) ที่กลายมาเป็นชื่อหนังสือเล่มแรกของเธอ

          หนังสือเล่มนี้คนไทยอาจยังไม่คุ้นหู แต่การันตีได้ว่าอีกไม่นาน ชื่อนี้จะกลายเป็นที่รู้จัก ดังเช่นที่ The Moon Represents My Heart ได้ถูกแปลไปหลายภาษา เดินทางไปตั้งอยู่หน้าร้านหนังสือในอิตาลี กรีซ รัสเซีย อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา และล่าสุดถูกซื้อลิขสิทธิ์ เตรียมทำเป็นซีรีส์ใน Netflix เรียบร้อยแล้ว

          และใช่ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงไม่ถึงปี นับจากวันที่เธอเขียนเล่มนี้ในช่วงล็อกดาวน์ระหว่างเรียนปริญญาโท สาขา Creative Writing ที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ เนเปียร์ (Edinburgh Napier University) ช่วงเวลาที่โลกหยุดกะทันหัน ช่วงเวลาที่เธอได้กลับมาทบทวนตัวเองอย่างหนักเช่นกัน ทั้งจากความสูญเสียของอากง ความเจ็บป่วยของพ่อ ที่ทำให้เธอตั้งคำถามถึงชีวิตตัวเองซ้ำ ย้อนนึกถึงอดีตที่ส่งผลต่อปัจจุบัน จนเกิดคำถามว่า “What would happen if someone became addicted to travelling back in time?” จะเป็นอย่างไรหากใครสักคนติดอยู่กับการท่องเวลาย้อนหาอดีต คำถามที่กลายมาเป็นพล็อตนิยายเล่มแรกของเธอเล่มนี้ นิยายเล่มแรกที่เป็นโปรเจกต์หลักสำหรับการจบปริญญาโท นิยายเล่มแรกที่เป็นความฝันของเธอ นิยายเล่มแรกที่บรรจุชีวิตของเธอเอาไว้ นิยายเล่มแรกที่จะพาเธอไปอีกไกล – ไกลโพ้นเกินกว่าเธอจะจินตนาในวันที่เธอจรดปากกา

          พูดคุยกับ ‘พิม หวังเดชะวัฒน์’ ในวันที่เธอกลับมาไทย หลังจากเพิ่งเดินทางกลับจากเอดินบะระเพื่อเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ บทสนทนาว่าด้วยชีวิตเด็กสาวคนหนึ่งที่ติดหนังสือเสียจนพ่อต้องบอกให้วาง ออกเดินทางไกลเพราะอยากเขียนหนังสือ กลับมาอีกครั้งมีหนังสือติดมือ ทว่าครั้งนี้เป็นหนังสือของเธอเอง และโอกาสของนักเขียนไทยในต่างประเทศ ในวันที่โลกร้องเรียก diversity และ inclusiveness จากทุกวงการ

‘The Moon Represents My Heart’ นิยายเดบิวต์ของนักเขียนไทยสู่ซีรีส์ใน Netflix

เด็กหญิงพิมคนนั้นที่ถือหนังสือติดมือตลอดเวลา โตมากลายเป็น

          คนชอบเข้าใจว่าเราเกิดและโตที่ต่างประเทศ แต่เปล่าเลย เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เกิดและโตที่นี่ ตอนเด็กเรียน Bilingual ก็จริง แต่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ตอนเด็กเราชอบอ่านหนังสือมาก กินข้าวก็ถือ เดินไปไหนก็ถือ อยู่กับผู้ใหญ่ก็ถือแต่หนังสือ ถึงขั้นพ่อแม่ต้องจับวางบ้าง คิดว่ามีส่วนทำให้ชอบเรื่องเล่า ชอบจินตนาการ 

          งานที่อ่านส่วนมากเป็นหนังสือแปล เช่น ห้าสหายผจญภัย, The Chronicles of Narnia, The Secret Garden, Lord of The Rings พอ ม.สี่ ม.ห้า เริ่มเข้าอินเตอร์ ก็หันมาอ่านภาษาอังกฤษหมดเลย อาจเพราะดูหนังภาษาอังกฤษอยู่แล้วก็เลยชิน พ่อก็เคยไปอยู่ฮ่องกง เรียนออสเตรเลีย เขาก็จะมีเพื่อนต่างประเทศที่แวะมาบ้านได้คุยกัน หลังจากนั้นก็เริ่มอ่านอังกฤษ Harry Potter อะไรพวกนี้  ตอนเด็กก็เคยคิดนะว่าอยากเป็นนักเขียน เพราะเราชอบอ่าน พ่อเองก็ชอบเล่านิทานให้ฟัง เราก็ชอบเล่านิทานให้น้องฟัง บางทีก็แต่งเองด้วย 

          ตอนย้ายมาเรียนอินเตอร์ก็เริ่มมีวิชาวรรณกรรมทั้งอังกฤษและไทย เขาก็จะให้อ่านแล้วทำ oral presentation หรืออ่านแล้วมาคุยกันว่าคิดอย่างไร เป็นครั้งแรกที่ได้เรียนคิดวิเคราะห์ ชอบก็เลยตัดสินใจไปสายนี้เลย สาขา Literature ที่ King’s College London ตอนเรียนก็ทำงานร้านหนังสือด้วย ช่วงปิดเทอมก็ทำเต็มเวลา ตั้งแต่เปิดร้าน เก็บของ ก็ช่วยให้เราเห็นว่าคนชอบอ่านอะไร เขาจัดวางหนังสือแบบไหน และทำให้เราคุ้นเคยกับวงการตีพิมพ์ ทำให้เราเริ่มคุ้นเคยกับชีวิตของคนขายหนังสือ

เรียนอะไร เรียนอย่างไร เรียนเพื่ออะไรในสาขา English Literature 

          เป็นสาขาที่ไม่มีคนไทยเลย มีเอเชียสองคนมาจากจีน ญี่ปุ่น ส่วนมากเป็นคนอังกฤษ แน่นอนว่าต้องอ่านหนังสือ แต่นอกจากนั้นก็คือการคิดวิเคราะห์ เช่น เรียนวรรณคดีอเมริกันยุคนี้ เขาก็จะเลือกหนังสือจากยุคนั้นมาให้อ่าน วิเคราะห์ธีม ประเด็นทางสังคม และเทคนิคที่ใช้ ตัวละคร ต่างๆ อ่านแล้วก็คุย วิเคราะห์กัน แล้วก็เขียน essay ที่ช่วยให้เราจับประเด็น ตั้ง argument ได้ชัด ว่าเราคิดอะไร ต้องการสื่อสารอะไร  

          คนอาจมองว่าไม่ใช่วิชาชีพ แต่ทักษะที่ได้ก็นำมาใช้ทำงานได้ เช่น เป็นนักข่าว นักวิจารณ์ สื่อมวลชน ก่อนเราจะเขียนนิยายเราก็เขียนรีวิว เขียนบทความ ทำงานสื่อสารมาก่อน ก็ใช้ทักษะนี้หมด หรือสมัยนี้จะเป็น คอนเทนต์ครีเอเตอร์ จัดพอดแคสต์ก็ต้องใช้ทักษะวิเคราะห์ จับใจความ สื่อสารทั้งนั้น เช่น ช่วงที่เราทำงานด้านการตลาด เคยเขียนงานลงเว็บไซต์โรงพยาบาล ต้องเล่าประวัติองค์กร about us, mission & values, สัมภาษณ์หมอมาลงในเว็บ ก็เป็นอาชีพได้ แต่ก็จะไม่ได้ครีเอทีฟเท่าไร ทำไปสักพักก็รู้สึกว่าต้องหาอะไรที่เราได้ครีเอทงานของเราเองด้วย 

          เราก็อยากเป็นนักเขียนอยู่แล้ว ก็เริ่มคิดว่าทำไมเราไม่เขียนงานของเราเอง เลยเริ่มทำบล็อกที่ไม่คิดว่าจะมีใครอ่าน เอาสารนิพนธ์ที่เราเขียนตอนปริญญาตรีที่เขียนถึง East Asian Representation in Mainstream American Cinema & Television from 1970 – 2013 มาลง เราก็ดูหนังอยู่แล้ว ดูอะไรก็เขียนรีวิว แล้วก็เขียนแฟนฟิกเยอะมากช่วงนั้น (ขำ) ก็มีคนอ่านอยู่นะ แต่ใช้นามปากกา คนเลยไม่ค่อยรู้ คนมักคิดว่าแฟนฟิกไม่ใช่ ‘real writing’ แต่ไม่จริงเลย งานหลายชิ้นคือดีมาก พล็อต ตัวละคร มาเต็ม นี่ก็เลยเป็น creative outlet ของเรา 

เขียนเล่นจนเป็นงาน

          เขียนไปสักพักมินห์ (Minh Bui Jones) บรรณาธิการของ Mekong Review มาเห็นงานที่เราเขียนถึงบรูซ ลี เขาเลยติดต่อมาให้เราลองเขียนวิเคราะห์หนังสือเกี่ยวกับ shopping mall culture ในกรุงเทพ ก็เป็นชิ้นที่ได้รับการตอบรับดี เขาก็ติดต่อมาให้เขียนเรื่อยๆ ทำให้เรามีคนตามมากขึ้น รวมทั้งบรรณาธิการของ Nikkei ที่ให้เราลองเขียน มีชิ้นหนึ่งเขียนถึงซีรีส์ VATANIKA วิเคราะห์มุม girlboss feminism ตั้งคำถามว่ามันเป็น feminism จริงไหม เป็นพรีวิเลจอย่างหนึ่งหรือเปล่า ชิ้นนี้ก็มีคนอ่านเยอะ น่าจะเพราะกระแสด้วย ก็เลยมีงานอื่นๆ ตามมา ส่วนมากเป็นรีวิว แต่เราก็สนใจมิติที่สะท้อนสังคมด้วย เพราะเราเองก็สนใจงานวิจารณ์ที่มีมุมสังคมด้วยมากกว่า เราว่ามันมีความลึกกว่า ทำให้คนอ่านได้คิดมากกว่าจะเขียนว่าเราชอบไม่ชอบ

‘The Moon Represents My Heart’ นิยายเดบิวต์ของนักเขียนไทยสู่ซีรีส์ใน Netflix

อยากเขียนจนต้องไปเรียนต่อ

          เราก็อ่านหนังสือแต่เด็ก ก็อยากเขียนหนังสือของตัวเองบ้าง เราเขียนเยอะจริง แต่ไม่ได้เขียนอะไรยาวเลย ยกเว้นแฟนฟิกแสนกว่าคำที่เอาจริงก็รวมเล่มได้ แต่อย่างอื่นก็เป็นรีวิว บทความสั้นๆ ทั่วไป เลยคิดว่าอยากเรียนโทด้าน Creative Writing จะได้เขียนหนังสือจริงๆ เราสมัครไป 5 ที่ แต่สุดท้ายเลือก Edinburgh Napier University เพราะที่นี่แตกต่างตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครแล้ว ที่อื่นจะให้ส่งพอร์ต แต่ที่นี่ให้โจทย์แทน เช่น ให้เติมเนื้อหาจากประโยคแรกที่เขากำหนด เราเลยรู้สึกว่าน่าสนใจ และที่นี่ก็ให้ความสนใจกับ genre มากกว่าที่อื่น เลยรู้สึกว่าเป็นวิธีการที่ต่างจากที่เราเคยเรียนวรรณกรรมอังกฤษมาแล้ว และหลักสูตรเขามัน practical มาก คือสอนทุกกระบวนการไปจนถึงการเขียน cover letter หาเอเจนต์ รายได้ที่จะได้จากลิขสิทธิ์ ขั้นตอนต่างๆ เวลาติดต่อหาตัวแทนควรหรือไม่ควรทำอะไร  เนื้อหาที่สอนมันใหม่ และให้เครื่องมือที่เราเอาไปใช้ได้จริงๆ ก็เลยเลือกอันนี้

          หนังสือเล่มนี้คือโปรเจกต์หลักของโปรแกรมนี้เลย เขาจะให้เราทำสิ่งที่เรียกว่า CSR (Critical Self Reflection) วิเคราะห์ วิจารณ์งานเขียนของเราเองว่าเราเขียนได้ไง มีที่มาที่ไปยังไง ตรงไหนดีไม่ดี โปรแกรมนี้ทำให้เราได้เขียนจริงๆ ตั้งแต่ขั้นโครงร่างเนื้อหายันการส่งจดหมายไปสำนักพิมพ์ ทุกคนต้องเขียน ถ้าเขาทำ dissertation จบ แล้วส่งตามกระบวนการต่อ เขาก็จะได้งานเขียนจริงๆ 

          อย่างหนังสือเล่มนี้ก็เป็นหนึ่งในสิบไอเดียที่ส่งไปตอนแรก  มันก็จะมีเรื่องที่แฟนตาซีมาก โจรสลัด หรือตามติดตัวละครในประวัติศาสตร์ 

อ่านเยอะ เขียนได้หลากหลาย ทำไมถึงเป็นเรื่องการข้ามเวลาในหนังสือเดบิวต์ 

          ช่วงนั้นเป็นช่วงล็อกดาวน์ มีเวลาเยอะมากจนหวนนึกถึงอดีต ทบทวนชีวิตตัวเอง คิดจนจุดหนึ่งเกิดคำถามว่า “What would happen if someone became addicted to travelling back in time?” เราเลือกอันนี้เพราะมัน personal สุด เรื่องอื่นก็เป็นคนในประวัติศาสตร์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเรา แต่เรื่องนี้มันคือตัวเราที่คิดถึงอดีตของเราเอง อยากรู้ว่าทำไมเราเป็นคนแบบนี้ ตอนนั้นอากงเพิ่งเสีย พ่อป่วย เลยทำให้เราคิดเรื่องความสูญเสีย ความสัมพันธ์เยอะ

กระบวนการเขียน

          เราไม่ใช่คนที่เขียนพล็อตซับซ้อน แต่เราให้ความสำคัญกับตัวละคร ต้องมีเอาต์ไลน์ชัดเจนว่าตัวละครจะไปไหน จากจุด a ไป b อะไรทำให้เขาเปลี่ยนไป อะไรคือ main struggle ของเขา มีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วเขาเจอเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ความขัดแย้งคลี่คลาย คือตอนแรกเราเขียน linear มาก ตรงไปตรงมาสุดๆ แต่ mentor แนะว่าเขียนเป็นสลับฉากตัวละครไปเรื่อยๆ ดีกว่า 

          วิธีการเขียนของเราเลยเริ่มจากการวางตัวละครก่อน แล้วค่อยๆ เติมเนื้อเข้าไป ตอนแรกวาดตัวละครไปไกลเลยให้เป็นโปลิช (Polish – ชาวโปแลนด์) อยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนเขียนยังอุตส่าห์เดินทางไปอีกเมืองเพื่อไปร้านอาหารโปลิช แต่สุดท้ายก็คิดว่า ทำไมไม่เขียนเป็นเอเชียนไปหมดเลย ส่วนพล็อตก็ได้อาจารย์มาช่วยเยอะมาก

‘The Moon Represents My Heart’ นิยายเดบิวต์ของนักเขียนไทยสู่ซีรีส์ใน Netflix

นอกจากผลงานเชิงรูปธรรม การเขียนหนังสือเล่มนี้ที่มาจากเรื่องราวส่วนตัวส่งผลต่อเราอย่างไรบ้าง 

          ทำให้เรารู้สึกว่าเราทำได้นะ เราเขียนหนังสือได้ สองคือทำให้เราตกตะกอนเรื่องครอบครัวตัวเอง ทำให้เข้าใจและยอมรับอดีตได้ เข้าใจคนในครอบครัวมากขึ้น 

ความ (ไม่) ตั้งใจที่ใส่ Asian Representation (ภาพแทนความเป็นเอเชีย) ทั้งในบทความและนิยายเล่มแรก  

          ไม่ถึงขั้นนั้นนะ ตอนเด็กเราก็อ่านนิยายที่เขียนด้วยคนขาว งานที่เรียน สื่อที่ตาม หนังฮอลลีวูด ส่วนมากมันก็มาจากคนขาวอยู่แล้ว ตอนเด็กคิดด้วยซ้ำว่าหรือเราควรเขียนตัวละครที่เป็นคนขาว แต่พอมาเรียนก็รู้สึกว่าแล้วทำไมเราไม่เขียนถึงสิ่งที่เรารู้จัก สิ่งที่เราเป็น สิ่งที่อยู่ในใจเรา แต่พอเขียนแล้ว ก็ยังมีความคิดว่าเรามีสิทธิ์เขียนหรือเปล่า เพราะเราไม่ใช่จีนแท้ เราคือไทยจีน เพราะเรื่อง representation มันเป็นเรื่องใหญ่ เราก็จะระวังตัวเอง แต่ทำไมคนขาวเขียน เขาไม่เห็นต้องคิดเลยว่า “Am I white enough?” ทำไม แล้วทำไมเราต้องเบรกตัวเองว่า “Am I Chinese enough? Do I have the right to write?”

          มีบางรีวิวบอกว่าไม่คุ้นกับโครงสร้างภาษาที่ใช้ เราก็ว่าเป็น fair criticism ดี เราเข้าใจ หรือเพื่อนบางคนบอกว่าเขาไม่สามารถเชื่อมโยงกับตัวละครบางตัวได้ มันก็ทำให้เราเห็นว่ามันอาจไม่ได้เข้าถึงคนทุกคน อย่างตัวละครบางตัวก็มีความเฉพาะเจาะจงทางวัฒนธรรม เช่น อาม่า เพื่อนเราที่เป็นคนขาวคนหนึ่งบ่นว่าทำไมอาม่าดุจัง ถ้าเป็นเขานะไม่ฟังแน่ ก็จะต่างจากเราที่เป็นเอเชียนที่เข้าใจลักษณะอาม่าแบบนี้ 

ก่อนจะได้ยินเสียงวิจารณ์ภายนอก ต้องก้าวข้ามเสียงวิจารณ์ภายในตัวเองให้ได้ก่อน

          ยังไม่คิดว่าก้าวข้ามได้นะ แค่ยอมรับว่านี่คือเรา นี่คือเรื่องของความสัมพันธ์ครอบครัวเรา ตัวละครในชีวิตเรา และพอพ่ออ่านแล้วบอกว่ามันมีความหมายต่อเขาก็ช่วยได้มาก หรือคนที่มีเชื้อสายจีนอ่านแล้วเขารีเลตได้เราก็ว่าช่วย คือเขาไม่ได้รู้สึกว่าเราเขียนในสิ่งที่ไม่ควรเขียน แล้วคนที่เราพูดถึงเขายังรู้สึกเชื่อมโยงกับมันได้

เมื่อเล่าเรื่องที่จริงแท้ เรื่องราวในสังคมย่อมหลากหลาย

          เราเห็นความพยายามในอุตสาหกรรมการพิมพ์ที่จะขยาย representation นะแต่ถ้าตามสถิติก็ยังน้อยอยู่ โดยเฉพาะใน UK ก็ยังน้อยอยู่มาก จำนวนนักเขียนที่ได้รับการตีพิมพ์ คนที่ทำงานในวงการ ส่วนมากก็ยังเป็นคนขาว แล้วใน UK ก็มีเรื่องชนชั้นด้วย มันหลายมิติมาก โอเค มีความหลากหลายมากขึ้น แต่มันก็ยังไม่เป็น ‘ปกติ’ 

          เราเคยออกพอดแคสต์หนึ่งของอังกฤษ เขาถามอยู่นานมากว่าจะทำอย่างไรให้มี representation มากขึ้น คือเอาจริงมันไม่ใช่โจทย์ของเรา แต่พอเราเป็นคนส่วนน้อยที่ไม่ใช่คนขาว มันก็เลยกลายเป็นประเด็นของเราไปโดยปริยาย เหมือนต้องพูดแทนคนอื่น ทั้งที่ความจริงมันควรเป็นปกติจนเราไม่ต้องพูดถึงด้วยซ้ำ

          เราเลยคิดว่าถ้าในอุตสาหกรรมมีคนที่มาจากประสบการณ์อื่นเข้าไปทำงานมากขึ้น มันจะช่วยให้เราได้เห็นชีวิตกว้างขึ้น และมีพื้นที่ให้เรื่องที่สำคัญมากขึ้น เราว่ามันจำเป็นนะ

‘The Moon Represents My Heart’ นิยายเดบิวต์ของนักเขียนไทยสู่ซีรีส์ใน Netflix

Publishing is a political act? 

          ก่อนอื่นเลยเราไม่ได้มองว่าการตีพิมพ์คือสิ่งที่วัดคุณภาพอะไรได้ เราโชคดีมากที่ได้รับการตีพิมพ์ เพราะมันมีหลายปัจจัยมาก ว่าตัวแทนบรรณาธิการสำนักพิมพ์เขารีเลตกับเรื่องของเราได้ไหม เขามองหางานแบบนี้อยู่หรือเปล่า มาร์เก็ตติ้งส่งหรือเปล่า มันก็มีความ subjective มาก ว่าหนังสือเล่มหนึ่งจะได้รับการตีพิมพ์ไหม มันไม่ใช่สิ่งที่จะวัดคุณภาพของงานได้เลย 

ความตั้งใจ + ความสามารถ + ความโชคดี 

          เราเรียกว่าโชคดี เพราะก็เป็นพรีวิเลจของเราด้วย ข้อแรกคือไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับการศึกษาแบบเรา เรามีแต้มต่อด้านพื้นฐานภาษา เห็นช่องทางการตีพิมพ์ สอง ตอนที่เราเขียน เราอยู่ในจุดที่เราไม่ต้องทำงานไปเขียนไป ซึ่งมันก็ยากมากถ้าต้องทำงานไปด้วย เหนื่อยแล้ว และต้องมาเขียนอีก และสาม การมาเรียนโปรแกรมนี้มันก็ทำให้เรามีช่องทางชัดเจน แต่ถ้าจะให้เครดิตตัวเองก็คงเป็นเรื่องความมุ่งมั่นที่จะเขียนให้จบ จะลองให้เต็มที่

กระบวนการตีพิมพ์หนังสือส่งสำนักพิมพ์ต่างประเทศ

          มีคนทักมาถามเราเยอะมากเรื่องขั้นตอน หนึ่งคือเขียนให้เสร็จ ก่อนจะติดต่อเอเจนต์ ต้นฉบับต้องจบก่อน ตอนเราเขียนเสร็จแล้วเราส่งให้เพื่อนพร้อมคำถามเลยว่าเขารู้สึกอย่างไรกับตัวละครตัวนี้ เขาเห็นอกเห็นใจตัวละครนี้ได้ไหม เพื่อจะเทียบว่าเขารู้สึกตามที่เราอยากให้เขารู้สึกไหม พอเขาตอบมาก็โอเค I’m on the right track ผู้อ่านเข้าใจสิ่งที่เราอยากสื่อสาร ก็แก้ไขนิดหน่อยอีกรอบ 

          สองก็เลือกเอเจนต์ ที่เราจะส่งหา อันนี้จะต่างจากไทยที่เราส่งสำนักพิมพ์เลย ที่อังกฤษเราต้องส่งตัวแทน ยกเว้นเราจะ self-publishing ซึ่งก็จะเป็นอีกเรื่อง ใช้ทุนอีกแบบ ตอนนั้นเราเข้าไปดูเอเจนต์ทุกเจ้าที่มีใน UK เลยนะ ดูว่าใครเปิดรับงานบ้าง หางานแบบไหนอยู่ แล้วเราค่อยเลือก top 5 ของเราโดยดูจากหนังสือที่เขาเคยตีพิมพ์มาแล้ว ดูว่าแนวทางของเราตรงกับสิ่งที่เขาหาหรือเปล่า ถ้าเขาเคยให้สัมภาษณ์ก็ตามไปฟังว่าเคมีตรงกันมั้ย ก็คละกันไประหว่างเอเจนต์ใหญ่มีชื่อกับเจ้าเล็ก น้องใหม่ที่น่าจะให้เวลากับเราได้

          แล้วเราก็เขียนหาเขา แนะนำตัวว่าหนังสือเกี่ยวกับอะไร ยกตัวอย่าง comparative titles (ชื่อวรรณกรรมอื่นๆ ที่ใช้อธิบายรูปแบบหนังสือ) เช่น ของเราบอกว่า “This is The Time Traveller’s Wife meets Joy Luck Club” แล้วก็ลงท้ายด้วยว่าทำไมเราถึงเลือกเขาเป็นเอเจนต์ ก็เป็นทักษะที่เราได้จากโปรแกรมที่เรียนนี่แหละ แล้วก็แนบเรื่องย่อ โครงร่าง และสามบทแรกส่งไปให้เขาดู 

          หลังจากนี้ก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว บางคนใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้รับการตอบรับ เพราะเอเจนต์แต่ละเจ้าบางรายได้รับเป็นพันข้อเสนอในแต่ละปี

‘The Moon Represents My Heart’ นิยายเดบิวต์ของนักเขียนไทยสู่ซีรีส์ใน Netflix

เริ่มเขียนช่วงล็อกดาวน์ หนึ่งปีผ่านมาหนังสือวางขาย จำหน่ายหลายภาษา และถูกซื้อลิขสิทธิ์ทำซีรีส์แล้ว คิดว่าเพราะอะไรทำให้หนังสือเล่มนี้เดินหน้าเร็วขนาดนี้ 

          เร็วมากจริง ก็ไม่รู้ว่าทำไม เรา query agent ได้ภายในสองเดือน มีขอต้นฉบับกลับมา 4 ราย ส่วนหนึ่งน่าจะเพราะ cover letter ดี comparative titles ดี ก็มีคนปฏิเสธเลยทันทีเหมือนกัน รู้อยู่แล้วว่าต้องมี แต่ก็ใจเสียนิดหนึ่ง เพราะปกติบางเคสถ้าขอต้นฉบับไปแล้ว หรือแม้แต่คุยกันไปแล้ว เขาจะหายไปเลยก็ได้ เราเคยส่งงาน poetry ไปก่อนหน้านี้ ก็มีเจ้าที่ตอบรับแล้วนะ มีแก้ไขงานตามแล้วด้วย แล้วก็หายไปนานก่อนที่จะบอกว่าไม่พิมพ์แล้ว

          กระบวนการนี้ไม่มีอะไรยืนยันได้เลย แต่เราโชคดีที่มีเจ้าหนึ่งเขารับแล้วอ่านเลย ยื่นข้อเสนอเลย ซึ่งช่วยเรามาก เพราะทำให้เรากระตุ้นคนอื่นได้ว่ามีคนยื่นข้อเสนอเราแล้วนะ คุณสนใจไหม คำตอบคุณคืออะไร ก็ช่วยเร่งกระบวนการได้ ซึ่งวิธีการพวกนี้ก็ได้คำแนะนำจาก mentor ด้วยว่าเราควรให้ความสนใจกับเอเจนต์แบบไหน คนที่มองหางานแบบนี้ มีไฟ เขาก็จะทำงานเร็ว แล้วการที่เราทำให้เขาเห็นว่าเรามีคนตอบรับแล้วมันก็จะกดดันเขากลายๆ 

          สุดท้ายก็มีสองคนที่ยื่นข้อเสนอ ตอนนั้นเราก็เครียดมาก กลัวเลือกผิด เราก็เลยขอซูมคุยทั้งสองราย แต่คนแรกที่ติดต่อมาเป็นเอเจนซี่ที่ใหญ่กว่า เก่าแก่กว่า มีลูกค้าอยู่เยอะแล้ว แต่สุดท้ายเราเลือกรายนี้ เพราะเขาเป็น Translation Rights Executive ด้วย แม้จะรายเล็กกว่า แต่เราคุยแล้วคลิก แล้วเขาดู up and coming กำลังมาแรง ขายได้เบสต์เซลเลอร์ เราว่าเราชอบความ underdog ไฟแรง ดูแลแบบแฟมิลี่ ก็เลยใช้เซนส์เลือก แต่ตอนนั้นก็กลัวมากว่าจะเลือกผิดไหม 

ข้อดีข้อเสียของการมีเอเจนต์

          ข้อเสียคือเขาได้สิบเปอร์เซ็นต์จากทุกอย่างที่เราได้ (ขำ) แต่ข้อดีคือเขาเข้าถึงดีลที่เราไม่มีวันเข้าใจ ไม่มีคอนแทกต์ เขาต่อรองตัวเลข ดูแลลิขสิทธิ์ และมีคอนแทกต์กับสำนักพิมพ์ที่เราไม่มีวันเข้าถึงได้ 

          อย่างของเราตอนนี้ก็ได้รับการแปลเป็นภาษา อิตาเลียน รัสเซียน อินโดนีเชียน สแปนิช ไทย ส่วนภาษาอังกฤษก็ไปหลายประเทศแล้ว เอเจนต์เขาก็ไม่ได้บอกนะว่าทำไมถึงไปตลาดเหล่านี้ อาจเป็นธีมเรื่องครอบครัวด้วยมั้ง แต่เราประทับใจมากที่เอเจนต์กระตือรือร้นที่จะขายลิขสิทธิ์แปล

ดีลใหญ่กับ Netflix

          สำนักพิมพ์ทำงานกับฟิล์มอยู่แล้ว บริษัทโปรดักชันจะมีสิ่งที่เรียกว่า book scout เอเจนต์เราส่งดราฟต์ตั้งแต่ยังไม่ตีพิมพ์เลย ก็มีบางคนอ่านแล้วไม่เห็นวิชั่น แต่ทารา (Tara Timinsky) ที่ Grandview อ่านแล้วชอบมาก เขาบอกว่าเห็นภาพเลย แล้วเขาก็ส่งไปให้อีกหลายคน ทั้งบริษัทโปรดักชันแล้วก็ส่งให้ทีมของเจมมา (Gemma Chan) ที่เริ่มทำบริษัทของเขาเอง 

          เราก็งงมากที่เห็นหนังสือมันไปของมันเอง เราเขียนช่วงโควิด หาเอเจนต์ตอนเมษายน 2021 ได้เอเจนต์ ตอนกลางปี 2021 ได้สำนักพิมพ์เดือนสิงหาคม แล้วปลายปีก็ถึงมือเจมมา ก็นับเป็นเวลาที่เร็วจนเรายังงง ก็ต้องยกเครดิตให้เอเจนต์ คือหลังเราส่งหนังสือให้ เขาก็ไปจัดการเองต่อทุกอย่าง

ถูกที่ ถูกเวลา ถูกคน 

          เราว่าเราเจอคนที่ถูกต้องถูกเวลา เจมมาบอกว่ามันมีหลายจุดในเรื่องที่เขารู้สึกเชื่อมโยง ทั้งตัวละครพ่อที่เคยอยู่ฮ่องกง ตัวละครอยู่ลอนดอน เป็นชาวบริติชเชื้อสายจีนที่เขาเคยสัมผัสและรู้สึกได้

          เรื่องแปลกคือตอนที่เราเขียนหนังสือเล่มนี้ เราไม่ได้คิดเลยว่าตัวละครจะเป็นใคร ยกเว้นตัวละครแม่ (Lily) เรามองภาพเป็นเจมมาเลย พอเอเจนต์บอกว่ามีคนอ่านแล้วสนใจอยากประมูล คนนั้นคือเจมมา เราก็โอ บังเอิญมาก แล้วตอนนั้นเขาอยู่เมืองไทยด้วย กักตัวอยู่ที่ภูเก็ต แต่เราก็พยายามตั้งความหวังต่ำๆ เพราะหนังสือที่ประมูลแล้วถูกแช่มันก็มี มันต้องเผื่อใจไว้ตลอด แต่ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่มันเดินหน้าเร็วกว่าเล่มอื่นมาก แล้วตอนนี้ Netflix ก็มอบหมายคนเขียนบทแล้ว ว่าแปดตอนจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง คือมันก็ทั้งเกินจริง แต่ก็ทั้งเผื่อใจว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ ทีมเขาก็บอกว่าถ้าเป็นไปตามแผน ปลายปีหน้าก็อาจเสร็จแล้ว แต่เราก็พยายามเผื่อใจไว้ตลอด มันทั้งเผื่อใจและอยากเห็นมันสำเร็จลุล่วง

‘The Moon Represents My Heart’ นิยายเดบิวต์ของนักเขียนไทยสู่ซีรีส์ใน Netflix

เมื่อโลกต้องการความหลากหลาย

          กระแสความสนใจในเอเชียก็น่าจะเกี่ยว เรื่องนี้เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก ความสนใจของหนังสือเล่มนี้ในวงการตีพิมพ์ และ ฮอลลีวูดมันต่างกันมาก อย่างที่เล่าว่าตอนส่งไปตีพิมพ์ มีคนสนใจแค่ไม่กี่ราย แต่พอไปฮอลลีวูดคือมันเป็นการประมูลเลย แล้วตัวเลขก็อึ้งไปเลย เรารู้สึกว่ามัน surreal มาก รู้สึกเหมือนเราพูดถึงอะไรก็ไม่รู้ ตอนนั้นเราไปงานประมูล ของ Apple, Amazon, Netflix, Disney+ ก็เป็นเพราะเจมมาด้วยที่เขาอยากให้มันเกิดขึ้น แต่น่าสนใจคือ ทั้งความสนใจและทุนมันต่างกันมาก คนที่เข้าประชุมก็ต่างกัน อย่างตอนประชุมกับฝ่ายผลิตก็มีผู้ช่วยที่เป็นคนจีน ที่เขาบอกว่าเห็นชื่อก็รู้เลยว่ามาจากชื่อเพลง คือมันรีเลตกันได้ หรือคนจาก 21 Laps ก็มีคนจากญี่ปุ่น จีนอเมริกัน เราว่ามันก็ช่วยทำให้เขาเห็นภาพและเข้าใจเรื่อง มัน ไม่ได้มาจากมุม straight whiteness ซึ่งทำให้ประสบการณ์ตรงนี้ต่างจากวงการหนังสือ

          อย่างทีมเจมมาก็เป็นคนเอเชีย แอฟริกันอเมริกัน มีความหลากหลายอยู่ ก็อาจเพราะแรงกดดันจากฮอลลีวูดในช่วงหลัง ตั้งแต่เรื่อง #blacklivesmatter ที่ทำให้อุตสาหกรรมเมนสตรีมต้องทำอะไรสักอย่าง อีกอย่างในอังกฤษก็มีเรื่องคลาสอยู่ในวงการตีพิมพ์ ฉะนั้นมันยังไม่ไปถึงเรื่อง race มันก็ยังมีกรอบอยู่ 

ความแรงเล่มหนึ่งยังไม่ทันหาย เล่มสองก็ต้องเขียนต่อแล้ว

          ใน UK มันต้องมีไอเดียสำหรับเล่มสองตั้งแต่แรก เป็น ‘two-book deal’ ตั้งแต่แรก เอเจนต์เขาจะถามเลยว่าเรามีไอเดียสำหรับเล่มสองอย่างไรบ้าง เป็น longevity check ว่าคุ้มไหมที่จะลงทุนกับนักเขียนคนนี้ ไม่ต้องมีเนื้อหาพร้อมนะ แต่ต้องมีไอเดียคร่าวๆ 

          เล่มสองค่อนข้างส่วนตัวและเฉพาะเจาะจงกว่า สั้นกว่า เป็นความสัมพันธ์คนสองคน เป็นความรักแบบ modern dating แต่ก็จะ raw กว่า intimate กว่า ยังเป็นภาษาอังกฤษเหมือนเดิม แต่เป็นเรื่องของคนไทยนี่แหละ 

          ก็เครียดเหมือนกันนะ เพราะเล่มแรกมันไปไกล แต่การเขียนเล่มแรกก็ช่วยให้เข้าใจในวงการมากขึ้น ว่าเราจะนำเสนอมันยังไง มาร์เก็ตไหนที่จะสนใจเรื่องแบบนี้ 

แนะนำนักเขียนไทยที่อยากส่งงานไปต่างประเทศ

          คำแนะนำนี่ยากนะ ส่วนหนึ่งเราก็รู้สึกแย่ว่าทำไมเราไม่เขียนภาษาแม่ตัวเอง แล้วเราก็ไม่อยากแนะนำว่าต้องเขียนภาษาอังกฤษถึงจะสำเร็จ มันอาจไปถึงคนมากกว่าก็จริง แต่ไม่ได้แปลว่ามันมี value มากกว่า บางคนมองการเขียนภาษาอังกฤษว่ามีคุณค่ามากกว่าซึ่งมันไม่ใช่ นั่นไม่ใช่คำแนะนำที่เราอยากบอก 

          แต่ก็ต้องยอมรับว่าถ้าหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาไทยก็เป็นได้ที่มันจะไม่ถูกแปลหลายภาษาขนาดนี้ Netflix ก็คงไม่รู้จัก ยากกว่าที่จะต่อยอด เพราะวงการตีพิมพ์ไทยก็ไม่เหมือน UK ที่มีเอเจนต์คอยติดต่อลิขสิทธิ์แปล หรือผู้ผลิตให้ 

          ถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่เราว่าสำคัญคืออยากให้เขียนเรื่องที่สำคัญต่อตัวเราเอง ไม่ว่าคนจะมองว่าสำคัญหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องที่เราเขียนมาจากใจเราจริงๆ มันใช่จริงๆ สุดท้ายหนังสือจะไปหาผู้อ่านของเขาเอง นอกจาก แพสชันก็คือวินัยในการเขียน มีใจแล้วก็มีวินัย สุดท้ายก็คงขอให้สนุกกับตอนเขียนไว้ เพราะพอหนังสือออกจากเราแล้ว มันเป็นอีกประสบการณ์หนึ่งเลย มันเป็นเรื่องธุรกิจไปหมด ส่วนปัจจัยอื่นเราว่าไม่ใช่แค่ตัวนักเขียนด้วย มันทั้งวงการ ทั้งการศึกษาที่ต้องส่งเสริมงานด้านนี้ด้วย แต่ก่อนอื่นนักเขียนต้องเขียนให้จบก่อน แล้วหนังสือจะไปต่อเอง 

          “เขียนให้จบ แล้วหนังสือจะไปต่อเอง” 

          ดังที่ The Moon Represents My Heart เดบิวต์เล่มแรกของ ‘พิม หวังเดชะวัฒน์’ ที่เดินทางจากอพาร์ตเมนต์ในลอนดอนไปสู่วงการฮอลลีวูดในอเมริกา ร้านหนังสือในอิตาลี รัสเซีย อินโด และอีกหลายภาษาที่หนังสือเล่มนี้จะถ่ายทอดเรื่องราวของครอบครัวนักเดินทางข้ามเวลาต่อไป

‘The Moon Represents My Heart’ นิยายเดบิวต์ของนักเขียนไทยสู่ซีรีส์ใน Netflix

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก