‘พัชระพีร์ มีสัจ’ นักเขียนในพำนักจากโครงการตามหากะทิ

1,181 views
6 mins
November 1, 2023

          “แม่ไม่เคยสัญญาว่าจะกลับมา”

          เด็กสาวผู้เกิดในวันแห่งความรักกล่าวเปิดไว้ใน ความสุขของกะทิ วรรณกรรมเยาวชนที่สร้างตำนานตีพิมพ์มากกว่าหนึ่งร้อยครั้ง (116 ครั้งในปี พ.ศ. 2566) ถูกนำไปแปลเป็นหลายภาษาสู่ผู้อ่านในอีกหลายสิบประเทศ

          แม่กลับมาหรือไม่? กะทิออกตามหาแม่ไหม? ผู้อ่านอาจต้องไปหาคำตอบเอาเองจากในหนังสือ แต่ร่วมหนึ่งปีที่ผ่านมา ในวาระครบรอบยี่สิบปี ผู้เขียน งามพรรณ เวชชาชีวะ ได้ออก “ตามหากะทิ” ให้เข้าร่วมโครงการ Writer in Residence หรือนักเขียนในพำนักเพื่อบ่มเพาะนักอยากเขียนให้กลายเป็นนักเขียนให้ได้ ในบรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ และการสนับสนุนโดยผู้มีประสบการณ์ พร้อมรายได้สนับสนุนตลอดระยะเวลาสามเดือนที่บ้านรับลม อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 

‘ณัชชาพร มีสัจ’ นักเขียนในพำนักจากโครงการตามหากะทิ
Photo: ตามหากะทิ

          พื้นที่ ที่ปรึกษา และการหาเลี้ยงชีพ ทรัพยากรที่งามพรรณรู้ซึ้งดีผ่านประสบการณ์ตรงว่าสำคัญแค่ไหนในการทำงานสร้างสรรค์ การทำงานที่ต้องอาศัยทั้งวินัย ความมุ่งมั่น และเวลา การทำงานที่ใครต่อใครเชยชมว่ามีค่าเมื่องานนั้นสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว หากยากจะหาใครสนับสนุนจุนเจือในวันที่ยังก่อร่างสร้างตัว 

          ในวันนี้ที่กะทิผลิดอกออกผลคอยดูแลเธอ ดั่งที่เธอคอยดูแลกะทิตั้งแต่ในวันตั้งต้น งามพรรณจึงออก “ตามหากะทิ” คนต่อไป ให้กะทิเป็นมากกว่าเด็กน้อยที่สร้างความสุขผ่านตัวหนังสือ แต่เป็นตัวละครที่สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างนักอยากเขียนให้กลายเป็นนักเขียน 

          ทุกใบสมัครมีความกล้าหาญปรากฏชัดเจนที่ได้ตัดสินใจลงมือเขียนและส่งมาร่วมโครงการ การเป็นนักเขียนไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งที่ยากที่สุดคือการก้าวออกมาจากกรอบและข้อจำกัดในชีวิตเพื่อเดินบนเส้นทางนี้ ทุกท่านทำได้แล้ว ทุกท่านทลายกำแพงของความคลางแคลงใจและยืดตัวตรง เชิดหน้า บอกโลกใบนี้แล้วว่า “ฉันจะเป็นนักเขียน” ใน “จดหมายเปิดผนึกจากพี่เจนถึงผู้สมัครทุกคน” (2565) 

           “ฉันจะเป็นนักเขียน”

          คำที่ พีร์ – พัชระพีร์ มีสัจ ผู้ผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัคร 77 คน เล่าว่าเอ่ยประโยคนี้ในใจตนเองตลอดเวลา ความปรารถนาในการเขียนที่เริ่มต้นมาจากความรัก แม้ระหว่างทางจะเต็มไปด้วยอารมณ์สารพัดอย่างที่เขาบอกว่าสัมพันธ์กับข้างขึ้นข้างแรมทางจันทรคติ แต่ท้ายสุดจุดหมายปลายทางก็คือความรัก

          เปิดโพรงกระต่าย แวะเข้าพูดคุยในบ้านรับลมกับนักเขียนในพำนักจากโครงการ “ตามหากะทิ” ว่าด้วยศิลปะ ดวงจันทร์ ไดอารี และภาคีของเหล่ามนุษย์

‘ณัชชาพร มีสัจ’ นักเขียนในพำนักจากโครงการตามหากะทิ

จากกระบวนกร นักออกแบบการเรียนรู้ สู่นักเขียนในพำนัก

          ถ้าเล่าจริงๆ มันยาวนะ (หัวเราะ) ชีวิตมันต่อกันหมด แต่ถ้าสั้นๆ คือเราได้ข่าวเมื่อกลางปีที่แล้ว เห็นประกาศปุ๊บก็อยากเขียนสมัครทันทีเพราะมีประเด็น มีเรื่องที่อยากเล่าอยู่แล้ว อยากเป็นนักเขียนมาแต่เด็ก ด้วยความที่เป็นนักอ่านมาตลอดชีวิต แต่ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ก็ยังไม่ได้เขียนหนังสือเลย และโครงการนี้ก็มองหาคนที่อยากเป็นนักเขียนแต่ยังไม่เคยเขียน รู้สึกว่าทุกสิ่งที่เขาตามหามันคือเรา ก็อ่านแล้วเก็บไว้ในใจ ให้มันไหลเข้าไปในจิตใต้สำนึกไว้ก่อน

ทำไมต้องให้เข้าไปในจิตใต้สำนึกก่อน ทำไมไม่ส่งใบสมัครเลย

          เขาให้เขียนพล็อต และเรียงความเรื่องความฝันที่อยากเป็นนักเขียนด้วย มันก็เลยต้องใช้เวลาค่อยๆ เกลาประเด็นที่เราอยากเล่า สุดท้ายมีคนส่งใบสมัครทั้งหมด 77 คน พี่เจน คุณงามพรรณก็คัดเลือกสิบห้าคนก่อนในรอบแรก แล้วก็นัดคุยรายบุคคลพร้อมให้คำแนะนำด้วยว่าจะพัฒนาพล็อตที่ส่งมายังไงได้บ้าง และให้โจทย์ไปเขียนเรื่องย่อ พร้อมตัวอย่างบทเพื่อทำการคัดเลือกรอบสุดท้าย 

ที่ว่ามีประเด็นอยากจะเล่าอยู่แล้วคือเรื่องอะไร ทำไมถึงอยากเล่าเรื่องนี้

          มีสองเรื่องหลัก เรื่องแรก เราเป็นผู้ชายข้ามเพศจากผู้หญิงไปเป็นผู้ชาย มันก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของเรานี่แหละ อาจดูเหมือนเอาเรื่องตัวเองมาชำแหละให้คนอ่าน แต่ originality มันสำคัญมากในการทำงานศิลปะ ในการสร้างสรรค์ขั้นต่อไปเราค่อยเอาวัตถุดิบเรื่องของเราเองมาผสมสี ลดโทน เติมแต่งให้คนอื่นเข้าใจด้วย 

          ส่วนเรื่องที่สองเป็นเรื่องความทุกข์ของเพื่อนเรา เรามีเพื่อนอายุสิบแปดเป็นซึมเศร้า แล้วฆ่าตัวตายเพราะเขาไม่อยากทนอยู่เห็นความเกลียดชังในชีวิต มันก็เป็นจุดที่ทำให้เราอยากส่งเสียงแทนเขา แทนความเศร้าของเขาที่ไม่ได้รับโอกาสให้หายใจหายคอ ไม่ได้เป็นตัวเอง ซึ่งมันก็เป็นผลจากระบบต่างๆ รวมๆ กัน 

          สองเรื่องนี้เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เราอยากเขียน อยากหาพื้นที่พักฟื้น เพื่อเยียวยาตัวเอง แล้วแต่ไหนแต่ไรเราก็โตมากับการอ่าน การเขียนที่เป็นวิธีปลอบประโลมใจเรามาโดยตลอด

เรื่องเล่าเฉพาะตัว (originality) ที่มีความเป็นสากล (universality)

          จิตวิญญาณคนแต่ละคนไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เมื่อเรารู้ว่าธรรมชาติสร้างสรรค์เรามาต่างกัน เราจะไม่อยาก ไม่พยายามไปเหมือนใครเลย ความเป็นศิลปิน หรือการทำงานศิลปะคือการเป็นธรรมชาติ คือการอยู่กับปัจจุบันมากๆ ข้างในเราเป็นอย่างไรในตอนนั้น เราแสดงออกอย่างนั้นในภายนอก มันบิดเบือนไม่ได้เลย 

          เรามองว่าความเป็นศิลปินกับพุทธะคือเรื่องเดียวกัน การทำงานศิลปะกับการภาวนาก็เป็นเรื่องเดียวกัน

‘ณัชชาพร มีสัจ’ นักเขียนในพำนักจากโครงการตามหากะทิ

ประสบการณ์สามเดือนในพำนัก

          สำหรับเรามันเป็นสัญลักษณ์การกลับบ้าน ทั้งทางเรื่องภูมิศาสตร์ เราเป็นคนโคราชโดยกำเนิดแต่ออกไปเรียน ทำงานพลัดถิ่น การได้กลับมาที่นี่ก็คือกลับมาที่ภูมิลำเนาของเรา และบรรยากาศที่บ้านรับลมเองก็อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ซึ่งสำคัญมากเลย โดยทั่วไปเราอาจมองว่าการอยู่กับธรรมชาติไม่ได้เป็นเรื่องจำเป็น คิดว่าอยู่ก็ดี ไม่อยู่ก็ได้ แต่ธรรมชาติมันส่งผลต่อตัวตนเรามากนะ ธรรมชาติเติมพลังให้เรา ปลดปล่อย และเยียวยาเราได้แค่เอาตัวไปอยู่ใกล้ๆ ธรรมชาติ ความรู้สึกข้างในเราก็เปลี่ยนแล้ว ยิ่งคนทำงานสร้างสรรค์ ยิ่งต้องอยู่ใกล้ธรรมชาติ เพราะมันส่งผลต่อข้างในเราที่จะกลายเป็นงานออกสู่ภายนอก

          การอยู่ในพำนักเลยให้ความรู้สึกเป็นบ้านจริงๆ ทั้งที่ตั้งเขาใหญ่ ทั้งธาตุทั้งหลายในบ้านนี้ ต้นไม้ใหญ่เยอะ มีน้ำหน้าบ้าน อยู่ใกล้ป่า บ้านเองก็ชื่อว่ารับลม ในทางธาตุ ลมก็เป็นเหมือนไอเดีย เป็นความสร้างสรรค์ เป็นตัวพัดไฟหรือแพสชันให้ติด ในขณะเดียวกัน สีเขียวรอบบ้านก็ทำให้จักระหรือใจเปิดกว้าง ยิ่งเห็นสีเขียวกับฟ้าพร้อมกันมันยิ่งทำให้โลกข้างในสงบ มันช่วยมากในการทำภารกิจนี้ที่สำหรับเรามันยิ่งใหญ่ นั่นคือการเล่าความจริงผ่านเรื่องแต่ง ธรรมชาติช่วยให้เราทบทวนว่าเราต้องการสื่อสารอะไรในนิยายเรื่องแรกของเรา มันทั้งทำให้ไฟแรงมาก อยากเล่าๆๆๆ แต่เราก็อยากให้เวลากับมันเหมือนกัน เพราะมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทั้งเรื่องความรักและความทุกข์มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

‘พัชระพีร์ มีสัจ’ นักเขียนในพำนักจากโครงการตามหากะทิ

พอเผยสักนิดได้ไหมว่าเรื่องที่เขียนอยู่เป็นแนวไหน

          เราอยากเขียนนิยายแนวยูโทเปีย ส่วนหนึ่งเพราะเราเติบโตมากับการอ่านนิยายแนวนี้ และอีกสาเหตุก็เพราะเราอยู่ในโลกดิสโทเปียมานานแล้ว เลยอยากวาดภาพใหม่ ให้เห็นความเป็นไปได้ของโลกยูโทเปียบ้าง ก็แปลกดีที่พอเขียนเรื่องพวกนี้มันก็ทำให้รู้สึกถึงความสุขในชีวิตช่วงนี้ เป็นช่วงที่มีความสุข สงบกับชีวิตด้วย แต่ก็มีช่วงที่ดาวพฤหัสย้ายที่ทำให้ปั่นป่วนเหมือนกันนะ ช่วงนั้นก็จะเดือดดาลมาก ปั่นป่วนไปหมด (หัวเราะ) 

          คนมักมองว่าโลกยูโทเปียเป็นแดนฝัน แต่ทุกความฝันก็มีความจริงซ่อนอยู่ แล้วเรื่องที่เราเล่าก็มีความจริงซ่อนอยู่ แค่เราระบายสีให้มันเละ รุ้งเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีทั้งแดดทั้งฝนจนกลายเป็นเจ็ดสี ก็เหมือนกันเลยงานเขียนชิ้นนี้ก็มีทั้งความจริงผสมความฝันที่เราอยากให้เป็นแล้วก็มาละเลงสีเอา 

          เรื่องแปลกก็คือเราคิดว่าจุดเริ่มต้นของงานเรามันมาจากความโกรธ ความทุกข์ แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่เราพูดจริงๆ คือเรื่องความรักนะ ความรักตัวเอง ความรักที่มีต่อแม่ แม่ที่ไม่ใช่แค่แม่ผู้ให้กำเนิดด้วยนะ เราชอบเปรียบเรื่องนี้กับหนังเรื่อง “แฟนฉัน” พ่อของเจี๊ยบกับน้อยหน่าชอบทะเลาะกัน แข่งกันเรื่องต่างๆ แต่สองแม่กลับคุยกัน ก็แล้วทำไมเราไม่ใช้ความเป็นแม่ในการดูแลโลกนี้ละ ใช้ใจ ใช้ความรัก 

มีความเห็นอย่างไรต่อข้อเขียนของเวอร์จิเนีย วูลฟ์ว่า “A woman needs a room of one’s own in order to write” 

          พื้นที่เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ทั้งพื้นที่ว่างและพื้นที่ธรรมชาติ เราอยู่ที่นี่ท่ามกลางธรรมชาติไม่มีเสียงรบกวน ก็ทำให้ข้างในโล่ง หรือถ้าร้อนขึ้นมาก็ไปปล่อยพลังลงในน้ำในดินได้ นี่บางวันยังจินตนาการว่าตัวเองอยู่ในปราสาท เหมือนตัวเองเป็นปรินซ์ (หัวเราะ) ฟังดูเหงาแล้วเลอะเทอะเนาะ แต่จริงๆ สัญลักษณ์แสดงความเป็นกษัตริย์ก็คือมงกุฎ ก็คือ crown จักระ เราก็ถือว่าตัวเองเป็น king of my life ในปราสาทแห่งนี้ เหมือนเป็นผู้มีอำนาจเหนือชีวิตตัวเอง พอรู้สึกอะไรแบบนี้แล้วก็กล้าทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น

          หรือพื้นที่ในแง่อื่นอย่าง gap year เราก็มองว่าจำเป็นมาก เราโตเป็นผู้ใหญ่แต่ข้างในเราต่างมีความเป็นเด็ก เราต้องการพื้นที่วิ่งเล่นบ้าง การมี gap year หรือเวลาพัก หรือสนามให้เล่นในชีวิตจริงมันก็สำคัญ เราไม่ได้ต้องการทำงานเพื่อผลิตและบริโภคมากขนาดนั้น แต่ถ้าเราไม่มีพื้นที่ตรงนี้เราจะไม่ได้พักหยุดคิดว่าจริงๆ แล้วเราต้องการอะไร พื้นที่ว่างแบบนี้มันทำให้เราได้ให้เวลาตัวเอง ได้สัมพันธ์กับผู้อื่น เราใช้พลังงานแบบนี้ในการมีชีวิตได้ เราไม่ต้องใช้พลังงานการแข่งขันขับเคลื่อนกันตลอดก็ได้

          หรือพื้นที่ในเชิงร่างกาย อยู่ที่นี่เราเลือกหยุดฉีดฮอร์โมนเพศชายด้วย ก็ยิ่งทำให้เห็น cycle อารมณ์ที่ชัดมาก มันขึ้นสุดลงสุด มีพลังงานดาว ดวงจันทร์ ธรรมชาติรอบข้าง ร่างกายเองก็เป็นพื้นที่ที่พอมันว่างเราก็จะได้ปล่อยให้พลังงานอย่างอื่นไหลเข้ามา ไม่ได้ไปกำหนดมันอย่างเดียว มันเครียดไป

‘ณัชชาพร มีสัจ’ นักเขียนในพำนักจากโครงการตามหากะทิ

นอกจากการสนับสนุนเชิงกายภาพแล้ว ทางโครงการสนับสนุนอะไรทางความคิดบ้าง

          เขาให้อิสระเรา เราหน้าใหม่มากก็ยังไม่รู้ว่านักเขียนเขาทำงานกันอย่างไร ยังไม่รู้สไตล์ตัวเอง พี่เจนก็มาแนะนำกระบวนการบ้างว่าควรทำงานอย่างไร เช่น เขียนให้ได้เจ็ดหน้าต่อวันนะ แต่สุดท้ายก็แล้วแต่เราที่ต้องหาวิธีเราเอง เราชอบเล่น Method Acting ใช้วิธีสวมบทตัวละครเปลี่ยนไปในแต่ละวัน เหมือนเราออกแบบกระบวนการว่าตัวละครต้องไปเจอด่านอะไรบ้าง ชีวิตจะเจออุปสรรคอะไรเข้ามา แล้วเราก็แปะข้อมูลที่ได้มาจากการเล่นพวกนี้ไปทั่วบ้าน (หัวเราะ) 

หนึ่งวันของนักเขียนในพำนัก

          อยู่ที่นี่เหมือนไม่มีเวลา ที่นี่ที่ไหน กี่โมงแล้ว ไม่รู้ ไม่มี (หัวเราะ) 

เอาวัตถุดิบในการเล่าเรื่องมาจากไหนในพื้นที่ว่าง ที่ไร้กาล ไร้กฎเช่นนี้ 

          เราอ่านหนังสือเยอะมาก เอาหนังสือมาหลายกระสอบ และที่มีอยู่แล้วติดตัวคือความทุกข์ในชีวิต ที่อ่านเยอะมากหน่อยก็คือประวัติจากไดอารีส่วนตัว จะได้จำตัวเองในวัยเด็กได้ เรื่องที่เราอยากเล่ามันส่วนตัวอยู่แล้ว วัตถุดิบก็มาจากเรื่องวิถีคนข้ามเพศ ความน้อยเนื้อต่ำใจต่างๆ จากการถูกวัฒนธรรม ผู้ใหญ่ สังคมกดไว้นี่แหละ

‘ณัชชาพร มีสัจ’ นักเขียนในพำนักจากโครงการตามหากะทิ

การต้องเขียนไปข้างหน้า แต่ต้องทบทวนชีวิตย้อนหลัง มันส่งผลอย่างไรต่อความรู้สึกนึกคิดของเราบ้าง

          ยังไม่เคยทบทวนเรื่องนี้ แต่ถ้าถามความรู้สึกตอนนี้ก็คือเหงา (หัวเราะ) อยู่คนเดียวในบ้านที่มีหลายห้อง แต่ก็นะ เราอยู่คนเดียวจริงหรือเปล่าล่ะ? 

กดดันไหมจากการเป็น 1 ใน 77 คนที่ได้รับคัดเลือก มีคนรออ่านงานที่ยังเขียนไม่เสร็จ ได้คุยกับคุณงามพรรณไหมว่าคาดหวังหรือมีความตั้งใจจากการริเริ่มโครงการนี้บ้าง 

          พี่เจน (คุณงามพรรณ) เขาต้องการสนับสนุนคนที่มีแววเป็นนักเขียน พูดอย่างนี้ก็ดูเหมือนหลงตัวเองนะ คำว่ามีแวว แต่นั่นแหละ มีแวว มีฝัน หรืออยากเขียน เขาอยากสนับสนุนคนพวกนี้ให้เล่าเรื่องสำเร็จได้จริง พี่เจนเองก็ทำงานหนังสือเด็กมาตลอดชีวิต เคยเป็นนักเขียนที่ต้องการคนสนับสนุนมาก่อน เขาก็เข้าใจว่านักเขียนต้องการอะไร นักเขียนต้องการอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน ต้องมีชุมชนนักเขียนให้ได้คุยกันบ้าง ต้องมีพื้นที่ มีเวลาให้สร้างสรรค์งานได้จริง 

คิดว่าแนวคิดศิลปินในพำนักควรมีมากขึ้นในประเทศไทยไหม 

          มาก ส่วนใหญ่โมเดลพวกนี้เราจะเห็นกันในต่างประเทศ จริงๆ ในไทยก็มีนะ แต่ไม่ใช่สำหรับศิลปิน เป็นสำหรับนักบวช ไม่ได้พูดเล่นนะ พูดจริง นักบวชจำพรรษาไง ละทิ้งพื้นที่ส่วนตัวเพื่อไปเข้าเงียบ ทำพันธกิจบางอย่างด้วยตนเอง ออกจากบ้านหลังหนึ่งไปสู่สถานพำนักใหม่เพื่อเข้าสู่พื้นที่ว่างเพื่อทำภารกิจบางอย่าง

          เราว่างานศิลปะสำคัญมาก ยิ่งในยุคนี้ยิ่งสำคัญ ยุคที่คนห่างเหินจากจิตใจ เราต้องส่งเสริมจิตวิญญาณแบบใหม่ที่ทำให้คนกลับสู่ธรรมชาติของเราที่เป็นความรัก ไม่ใช่ความเกลียดแค้น เราเชื่อว่างานศิลปะดีๆ อาจหยุดยั้งสงครามได้เลยนะ จะเป็นงานศิลปะประเภทไหนก็ตาม ภาพวาด เพลงแรป หรืองานเขียน มันต้องเริ่มต้นจากการที่ศิลปินเชื่อมโยงกับจิตใจตัวเองทั้งนั้น 

          แน่นอนว่าถ้ารัฐสนับสนุนย่อมส่งผลดีในวงกว้าง เราจะมานั่งรอให้ศิลปินพร้อมก็ไม่ไหว ศิลปินหรือคนทำงานสร้างสรรค์ก็ยังต้องใช้ทุน ต้องมีเวลา แต่ในขณะเดียวกันศิลปินจะมารอคนสนับสนุนก็ไม่ได้เหมือนกัน เราเลยคิดว่าใครก็ตามที่ทำงานกับมนุษย์ จะเป็นครูที่ทำงานกับเด็ก คนทำงานสร้างสรรค์ สื่อ หรือใครก็ตามสามารถสนับสนุนเรื่องนี้ได้ทางนั้น เราไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง เราต้องเลิกพึ่งอำนาจนอกตัวเอง มันต้องเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่ทุกคนต้องเริ่มและร่วมมือกัน

‘ณัชชาพร มีสัจ’ นักเขียนในพำนักจากโครงการตามหากะทิ

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก