มหัศจรรย์แห่งความสงสัยและพลังที่ยิ่งใหญ่ของคำถาม

612 views
8 mins
November 7, 2023

          เคยจินตนาการถึงโลกที่สิ้นความสงสัยกันไหม? แล้วจะเป็นอย่างไรหากโลกนี้ไม่มีคำถาม? เป็นเวลาหลายพันปีแล้วที่ความสงสัยใคร่รู้ได้ขับเคลื่อนโลกใบนี้ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และขยายขอบเขตความรู้ให้แผ่กว้างไปเกินกว่าจะจินตนาการถึง ความสงสัยส่งมนุษย์ให้ไปเหยียบดวงจันทร์ ณ จักรวาลอันไกลโพ้น ทั้งยังพามนุษย์ให้กลับมาเรียนรู้กลไกภายในร่างกายของตนเองได้อย่างละเอียดลออ ดังนี้ความสงสัยจึงเป็นหนึ่งในอาวุธลับของมนุษยชาติ ยิ่งถ้ารู้จักใช้มันให้เป็นก็จะยิ่งเห็นพลังที่มหัศจรรย์ไม่แพ้อาวุธไหนๆ ในโลก

เมื่อใดที่ความสงสัยจะมาเยี่ยมเยือน

          แน่นอนว่าความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเรียนหรือรู้อะไรบางอย่างนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้เองลอยๆ กราฟ ‘พื้นที่แห่งความอยากรู้อยากเห็น’ (Curiosity Zone) จะช่วยอธิบายแนวโน้มที่ว่าคนเราจะรู้สึกอยากรู้อยากเห็นมากที่สุดเมื่อใด

          ความอยากรู้อยากเห็นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ แต่เกิดขึ้นเพราะความรู้ที่ยังไม่มากพอต่างหาก บนโลกที่มีข้อมูลนับล้าน แน่นอนว่ามีเรื่องราวจำนวนมหาศาลที่เราปล่อยผ่านเพราะเราไม่เคยแม้แต่จะรับรู้ถึงการมีอยู่ของมันด้วยซ้ำ และนั่นก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกอยากรู้ กระทั่งมีข้อมูลชุดหนึ่งเข้ามาในคลังการรับรู้ของเราในจำนวนที่ไม่น้อยพอที่จะละเลยมัน หากแต่ก็ไม่ได้มากพอที่จะทำให้เราเข้าใจสิ่งนั้นอย่างถ่องแท้

          ช่องว่างระหว่างข้อมูลที่เรารู้และบางสิ่งที่ขาดหายไป กระตุ้นให้เราเกิดความปรารถนาที่จะเติมเต็ม และกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสู่พื้นที่แห่งความใคร่รู้ที่แรงกล้าที่สุด หรือที่เรียกว่า ‘พื้นที่แห่งความอยากรู้อยากเห็น’ ข้อพึงระวังก็คือการมีข้อมูลมากขึ้น อาจทำให้ความมั่นใจในความรู้เพิ่มพูนจนก่อให้เกิดความเพิกเฉย และค่อยๆ ดึงเราออกจากความรู้สึกอยากรู้อยากเห็นในเรื่องนั้นไป

มหัศจรรย์แห่งความสงสัยและพลังที่ยิ่งใหญ่ของคำถาม
Photo: Curiosity Zone

แล้วทำไมฉันต้องสงสัยด้วยล่ะ

          ถ้าไม่อยากรู้ ก็ไม่ต้องสงสัย แล้วเราจะตั้งคำถามทำไมให้ปวดสมอง? หลายคนอาจคิดว่าการไร้ซึ่งความสงสัย ไม่ตั้งคำถามอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นวิถีที่สบายกายสบายใจดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความสงสัยเพียงเล็กน้อย แม้ไม่ใช่เรื่องที่ยิ่งใหญ่ถึงขนาดเปลี่ยนโลกทั้งใบได้ แต่ก็เป็นพลังมหาศาลที่มีอิทธิพลต่อตัวเราและความสัมพันธ์รอบข้างอย่างไม่น่าเชื่อ!

ทุกการเรียนรู้เกิดจากคำถาม

          แน่นอนว่าสิ่งแรกที่เราจะได้จากการถามนั้นก็คือคำตอบ ความสงสัยสร้างความตื่นตัวให้กับผู้คนในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และคำตอบของปัญหาที่คาใจนั้นมักจะติดตรึงในความทรงจำได้นานกว่าใคร เมื่อความอยากรู้อยากเห็นได้รับการกระตุ้น ส่วนของสมองที่ควบคุมเกี่ยวกับความสุขและรางวัล รวมไปถึงส่วนของฮิปโปแคมปัสที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความจำก็จะถูกกระตุ้นไปด้วย งานวิจัยพบว่าผู้ที่มีความสงสัยมากมีแนวโน้มที่จะจำข้อเท็จจริงได้มากขึ้นถึง 30% และความอยากรู้อยากเห็นนี้ยังทำให้เกิดการหลั่งสารโดปามีน ที่นอกจากจะเป็นสารแห่งความสุขแล้ว ยังอาจช่วยเสริมสร้างการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้

          ไม่เพียงเท่านั้นงานวิจัยยังพบว่านอกเหนือจากข้อมูลที่เราอยากรู้แล้ว สมองยังสามารถจดจำข้อมูลรอบข้างที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง หนำซ้ำยังน่าเบื่อ ได้นานกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่น หากเราเป็นแฟนตัวยงของละครเรื่องหนึ่ง ความอยากรู้ตอนจบของตัวเอกส่งผลให้เราจำตอนจบนั้นได้อย่างไม่มีวันลืม รวมทั้งอาจทำให้เราจำสิ่งที่เรากินระหว่างนั่งดูละครเรื่องนั้น หรือเหตุการณ์หลังจากละครจบได้โดยปริยาย ครูหลายคนได้นำความมหัศจรรย์ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ เช่น เชื่อมโยงบทเรียนคณิตศาสตร์แสนน่าเบื่อไปกับสิ่งที่เด็กสนใจ และก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สนุกสนานมากขึ้น

          ผู้ที่มีความสนใจใคร่รู้มักจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่สูงขึ้น ไม่ใช่เพียงเพราะแค่จำได้นานกว่า แต่เป็นเพราะระหว่างทางนั้นเรามีความสุขที่ได้ตามหาคำตอบอย่างเพลิดเพลิน มีส่วนร่วม และเจาะลึกมากขึ้น ความรู้ทั้งหมดทั้งมวลนี้กลายเป็นคลังทรัพยากรมหาศาลที่สามารถเรียกใช้ได้เมื่อเราต้องเผชิญกับปัญหาและต้องการหาแนวทางแก้ไขที่ดีที่สุด

มหัศจรรย์แห่งความสงสัยและพลังที่ยิ่งใหญ่ของคำถาม

ความสงสัย ดีต่อกายและใจเรา

          มากกว่าความรู้ คือการที่ความสงสัยช่วยให้เราได้พัฒนาตนเอง ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญสำหรับสุขภาวะที่อยู่ดีมีสุข ความสนใจใคร่รู้กระตุ้นการหลั่งสารโดปามีนที่ช่วยให้เรารู้สึกดี สร้างความสุขให้เกิดขึ้นได้ผ่านการค้นคว้าหาคำตอบ ทั้งยังเกี่ยวข้องกับอารมณ์เชิงบวกที่เพิ่มขึ้น ระดับความวิตกกังวลที่ต่ำลง รวมไปถึงความพึงพอใจในชีวิตที่มากขึ้น และสุขภาวะทางจิตที่ดีเช่นกัน

          จิตใจที่ใคร่รู้ยังช่วยพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งจะส่งผลกลับมาทำให้เราเป็นนักถามคำถามที่เก่งขึ้น การถามคำถามช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อชีวิตทั้งเรื่องของมนุษยสัมพันธ์ และการหันมารู้จักตนเอง ความสงสัยชี้ให้เราหันกลับมาทบทวนมุมมอง ความคิด ความเชื่อของตัวเอง และพาเราไปเผชิญกับโลกในมุมมองใหม่ๆ ผลักดันให้เราเอาชนะความกลัวและทำอะไรที่ไม่เคยทำ ซึ่งเปิดโอกาสให้เราได้พัฒนาทักษะหลากหลายที่จะเติมเต็มชีวิตเรา และเปลี่ยนเราให้กลายเป็นคนที่ดีขึ้น

          ความสงสัยยังช่วยส่งเสริมทักษะความอดทนของเราด้วย ความอยากรู้อยากเห็นที่เพิ่มขึ้น หมายถึงความเต็มใจของผู้คนที่จะรอเพื่อหาคำตอบของปริศนานั้น ในขณะที่คนที่มีความอยากรู้น้อยกว่ากลับใจร้อนที่จะทำงานให้ลุล่วงไป พวกเขาจึงขอให้ข้ามไปสู่คำตอบทันที ทั้งนี้ ความอดทนที่จะใช้เวลากับหัวข้อหนึ่งๆ นานขึ้นเพื่อศึกษาประเด็นให้ถ่องแท้ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมความสงสัยจึงเป็นตัวทำนายความสำเร็จทางวิชาการ

มหัศจรรย์แห่งความสงสัยและพลังที่ยิ่งใหญ่ของคำถาม

เพราะฉงน คนถึงสร้างสรรค์

          มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “ความอยากรู้เป็นแกนหลักของความคิดสร้างสรรค์” เพราะคำถามที่เกิดขึ้นคือแรงผลักดันในการค้นคว้าและลงมือลองผิดลองถูกสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ทั้งยังมีความเห็นว่าความอยากรู้อยากเห็นนั้นช่วยกระตุ้นให้ผู้คนผุดแนวคิดที่น่าตื่นเต้นและเป็นความคิดริเริ่มของตนเองมากขึ้น

          หลักฐานของข้อความข้างต้น อยู่ที่ชุดการทดลองที่มีเรื่องราวของ ‘ช้างที่หายไป’ ผู้วิจัยได้เตรียมเรื่อง ‘กลช้างหาย’ ว่าด้วยช้างตัวหนึ่งที่หายไปต่อหน้าต่อตาผู้คนนับพันหลังจากมันเข้าไปในกล่อง คนกลุ่มแรกได้รับเรื่องเล่าแฝงความลึกลับ พร้อมคำท้าทายว่าเฉลยของกลนี้เป็นเรื่องยากที่ใครจะล่วงรู้ ในขณะที่คนอีกกลุ่มได้รับเรื่องเล่าที่น่าสนใจน้อยกว่าและมีคำใบ้เล็กน้อย หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมทั้งสองกลุ่มก็มาให้คะแนนว่าพวกเขามีความสงสัยใคร่รู้ในกลการซ่อนช้างนี้มากแค่ไหน และให้ลองดีไซน์คำตอบของมายากลนี้ในแบบของตัวเอง

          ผู้วิจัยพบว่ากลุ่มคนที่ได้ฟังเรื่องราวแบบแรกมีความอยากรู้อยากเห็นมากกว่า ส่งผลต่อคำตอบเรื่องมายากลที่แปลกใหม่กว่าอย่างมีนัยสำคัญ ปรากฏการณ์ดังกล่าวดูเหมือนจะผ่านกระบวนการ ‘การเชื่อมโยงความคิด’ (Idea Linking) ที่จะค่อยๆ สร้างความคิดริเริ่มอย่างต่อเนื่องผ่านกระบวนการทำซ้ำ โดยอาจดึงเอาความเป็นไปได้หรือสถานการณ์อื่นๆ เช่น วิธีทำให้วาฬหายไป หรือความเป็นไปได้ในการเอาโครงไดโนเสาร์ออกจากพิพิธภัณฑ์ มาเทียบเคียง ปรับแก้และขยายคำตอบของเขาให้กว้าง กลายเป็นคำตอบที่สร้างขึ้นใหม่ ขณะที่คนอีกกลุ่มมักจะตอบความคิดแรกที่เข้ามาในหัวซึ่งน่าสนใจน้อยกว่า

พลังของความสงสัย เชื่อมใจไว้ใกล้กัน

          หลายครั้งความสงสัยยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความห่วงใยคนรอบข้าง และมีส่วนสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ไม่ว่าจะเป็นกับเพื่อนฝูง คนรู้ใจ เจ้านาย แม้กระทั่งกับแบรนด์ก็ตาม “การขอให้ใครสักคนแบ่งปันประสบการณ์ ความเข้าใจ หรือความสนใจของพวกเขากับคุณ ทำให้เกิดสายสัมพันธ์ และมักจะเป็นความชอบพอ ซึ่งเป็นพื้นฐานอันทรงพลังสำหรับความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน” อแมนดา ดีเบิร์ต นักเขียนบทโทรทัศน์และหนังสือการ์ตูน กล่าว

          ในงานศึกษาหนึ่ง นักวิจัยแบ่งกลุ่มผู้ศึกษาเป็นสองกลุ่มโดยขอให้กลุ่มหนึ่งถามคำถามอย่างน้อย 9 ข้อภายในเวลา 15 นาที ส่วนอีกกลุ่มให้ถามเพียงไม่เกิน 4 ข้อในเวลาเท่ากัน ผู้เข้าร่วมจะถูกจับคู่แบบสุ่มในรูปแบบของ Speed Dating (เดทด่วน) และการแชตออนไลน์ ผลปรากฏว่าผู้ที่ถามคำถามมากกว่าในแชตจะเป็นที่ชอบพอของคู่สนทนาอีกฝั่งมากกว่าและเรียนรู้ความสนใจของคู่สนทนาได้มากกว่า และผู้ที่ถามคำถามมากกว่าก็มักจะได้รับโอกาสเดทครั้งที่สองมากกว่า ดังนี้การได้เรียนรู้กันและกันผ่านคำถามจึงส่งผลให้เกิดความชื่นชอบที่มากขึ้นได้ สอดคล้องกับงานศึกษาอื่นๆ ที่สรุปได้ว่าผู้ที่สงสัยใคร่รู้จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกว่าคนอื่น เพราะการแสดงความสนใจต่ออีกฝ่าย ส่งผลสู่การเปิดใจ แบ่งปัน และยังอาจก่อให้เกิดการถามกลับเพื่อเรียนรู้กันและกัน

          ความสงสัยจึงมีส่วนอย่างมากที่ทำให้ผู้คนมีความเห็นอกเห็นใจต่อกันมากขึ้น เพราะความใคร่รู้ทำให้เรามีจิตใจที่เปิดรับความเห็น ประสบการณ์ และความคิดในบริบทที่แตกต่างจากโลกทัศน์เดิมที่เราเติบโตหรือยึดถือไว้ มากกว่าจะด่วนตัดสินผู้คนในทันที การเข้าไปมีส่วนร่วมและสนทนากับผู้คนที่อยู่นอกวงสังคมปกติของเรา ยังช่วยย้ำชัดถึงความไม่รู้และแสดงให้เห็นถึงมุมมองที่หลากหลายในจุดยืนที่แตกต่าง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความอ่อนน้อมถ่อมตนได้มากทีเดียว

          เมื่อกล่าวถึงพลังของคำถามที่มีต่อการทำงาน โดยปกติแล้วผู้สมัครงานมักจะถูกสัมภาษณ์และเป็นฝ่ายตอบคำถามเสมอ แต่เมื่อเราพลิกมาเป็นฝ่ายถามคำถามในสถานการณ์เช่นนี้ เราก็อาจจะมีแต้มต่อผู้สมัครคนอื่นๆ ได้ คำถามสามารถสื่อให้เห็นถึงความใส่ใจ ทั้งยังทำให้เกิดความรู้สึกของการมีส่วนร่วม และสร้างแนวโน้มที่ผู้สัมภาษณ์จะมองผู้สมัครในเชิงบวกมากขึ้น

          ในทำนองเดียวกัน แบรนด์ต่างๆ ก็อาจใช้พลังของความสงสัยขับเคลื่อนการเติบโตขององค์กรได้ ยกตัวอย่างเช่น การถามความต้องการของลูกค้าเพื่อสร้างสินค้าที่ตอบโจทย์และเข้าใจกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น จะช่วยเสริมความรู้สึกดีและความภักดีต่อแบรนด์ได้

          ทั้งนี้การถามคำถามจึงสามารถตอบโจทย์เป้าหมายหลักของการสนทนาตอบโต้กัน 2 ประการ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนข้อมูล (การเรียนรู้) และสร้างความประทับใจ (ความชอบพอ) ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงพลังของคำถามที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย

มหัศจรรย์แห่งความสงสัยและพลังที่ยิ่งใหญ่ของคำถาม

เสริมสร้างพลังแห่งความสงสัย ไม่ให้หายไปจากชีวิต

          หลายคนอาจจะมีคำถามผุดขึ้นมาในใจว่า “แล้วจะทำอย่างไรให้ความฉงนเกิดขึ้นในใจของฉัน?” วิธีดังต่อไปนี้อาจเป็นตัวช่วยให้หลายคนได้ทักทายกับอารมณ์ของความอยากรู้อยากเห็นอีกครั้ง

          ในโลกใบนี้มีเรื่องราวมากมายที่รอทุกคนค้นพบ และความสงสัยนั้นก็เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เสมอ เพียงแค่เราเริ่มเดินออกไปจากกรอบเดิมๆ อาจผ่านการสังเกตสิ่งรอบข้างด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 และค่อยๆ พิจารณาสิ่งที่เราสนใจอย่างรอบด้านโดยไม่ต้องรีบตัดสินจากเพียงมุมมองหนึ่ง หรืออาจจะลองเข้าไปพูดคุย ซักถามผู้คนที่มีความคิดแตกต่างจากเรา ด้วยความตระหนักรู้ถึงอคติและสมมติฐานเดิมที่เรายึดถือ

          เช่นเดียวกับการลองหากิจกรรมใหม่ๆ หรือลองเลือกตัวเลือกที่ไม่เคยเลือก ก็จะช่วยให้เราได้มีคลังประสบการณ์ไว้ผสมผสาน คิดค้นวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ ได้อย่างไม่จำเจ รวมไปถึงการอ่านหนังสือเยอะๆ ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะเพิ่มพูนความรู้และสร้างช่องว่างแห่งความฉงนได้ โดยไม่จำเป็นต้องออกจากบ้านเพื่อไปลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง (แม้ว่าหลายครั้งการลองด้วยตัวเองจะน่าสนุกกว่าก็ตาม)

          บางทีการค้นหาความฉงนอาจไม่ต้องไปเสาะหาที่ไหนไกล เพียงแค่กลับมานั่งสำรวจภายในจิตใจของเราเท่านั้น โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วผลักให้การใช้ชีวิตแต่ละวันเร่งรีบจนไม่ทันได้คิดไตร่ตรองอะไรให้ถี่ถ้วน ดังนั้นการกำหนดช่วงเวลาว่างให้กับตัวเองเพื่อทบทวนและตกตะกอนสิ่งต่างๆ ที่เราเผชิญมาจึงเป็นสิ่งสำคัญ

          ในช่วงเวลานี้ เราอาจย้อนกลับไปฟังเสียงความรู้สึกของตัวเอง หรือทบทวนความรู้เก่าๆ เพื่อเจอกับช่องว่างบางอย่างที่เราอยากจะเข้าใจให้มากขึ้น ก่อนที่จะจดคำถามเหล่านั้นไว้ใช้เติมไฟความสงสัยในชีวิต นอกจากนี้การนำปัญหาเดิมๆ ที่เคยแก้ไขเรียบร้อยภายในเวลาที่จำกัดมาพิจารณาดูอีกที ก็อาจจะทำให้เราพบวิธีการแก้ไขปัญหาในมุมมองอื่นที่แตกต่างและดีกว่าคำตอบเดิมที่เคยตอบไป

          หรือการลองเข้าหา ‘เจ้าหนูจำไม’ จะช่วยกระตุ้นความอยากรู้ของเราได้ การได้อยู่ใกล้ชิดกับเด็กน้อยที่สนุกกับการสำรวจโลกและค้นพบโลกใหม่ตลอดเวลา อาจจะช่วยเน้นย้ำความรู้สึกสงสัยที่หล่นหายไปตามกาลเวลา อีกทั้งเราอาจพบว่าบางคำถามจากเด็กที่ดูไม่ประสีประสายังจุดประกายให้เราได้ขบคิดถึงคำตอบที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงที่อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ของโลกใบนี้ หรือปรัชญาชีวิตที่จะเปลี่ยนเราไปตลอดกาล

          แต่วิธีไหนเลยจะได้ผลเท่ากับการหมั่นฝึกถามคำถามให้มากขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ทักษะการขยันถามคำถามเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ และศาสตร์ของการถามคำถามนั้นก็น่าสนุกที่จะเรียนรู้ แทบทุกคำถามนั้นมีเป้าหมายเพื่อหาคำตอบเหมือนกัน หากแต่เมื่อถามด้วยภาษาหรือวิธีการที่ต่างกันก็อาจจะให้ผลลัพธ์ที่ต่างกันได้ การฝึกถามนี้ควรประกอบคู่ไปกับการฝึกฟังให้มากขึ้นด้วย เพื่อให้เราสามารถจับประเด็นได้ดีขึ้นและทำให้เห็นช่องว่างหรือแง่มุมที่เราสนใจเพิ่มเติมได้ เกิดเป็นคำถามใหม่ที่รอให้เราได้ออกไปค้นคว้าหาคำตอบต่อไปอีก

มหัศจรรย์แห่งความสงสัยและพลังที่ยิ่งใหญ่ของคำถาม

ถามอย่างไรให้ได้ดี

          ดังที่มีคนกล่าวไว้ว่า “ยิ่งฝึกฝนก็จะยิ่งเข้าใกล้ความสมบูรณ์มากขึ้น” การฝึกถามคำถามบ่อยๆ จึงเป็นคำตอบหลักเมื่อเราอยากจะพัฒนาศักยภาพด้านนี้ แต่ถ้าจะมีทางลัดใด ก็คงเป็นการที่เราได้รู้ว่ามีปัจจัยใดบ้างที่จะทำให้คำถามหนึ่งๆ มีประสิทธิภาพมากที่สุดเพื่อพัฒนาคำถามของเราให้ตอบโจทย์การใช้งาน

          จำนวนคำถามไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้ใครเป็นผู้ถามคำถามที่ดี แต่ประเภทของคำถาม น้ำเสียง ลำดับ และกรอบคำถามก็มีความสำคัญ การถามคำถามยังต้องพิจารณาถึงเจตนาการสื่อสาร เช่น ถามเพื่อสานสัมพันธ์ ถามเพื่อแข่งขันต่อรอง หรือเพื่อทราบข้อจำกัดและอุปสรรคในการดำเนินบทสนทนา หรือเพื่อได้มาซึ่งคำตอบที่ต่างกัน

          คำถามสามารถจำแนกออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ คำถามเบื้องต้น (Introductory Question) ที่ใช้เริ่มบทสนทนา คำถามสะท้อน (Mirror Question) อย่างการถามกลับ คำถามเปลี่ยนหัวข้อ (Full-Switch Question) สำหรับเปลี่ยนประเด็นเดิม และคำถามติดตาม (Follow-Up Question) เพื่อขยายประเด็นและสืบสาวข้อมูลในหัวข้อนั้นต่อไป

          คำถามทั้ง 4 แบบนี้อาจมีพลังที่ไม่เท่ากัน เช่น ในการสนทนา คำถามติดตามดูเหมือนจะมีพลังพิเศษ ที่ทำให้คู่สนทนาเห็นว่าเรากำลังใส่ใจสิ่งที่อีกฝ่ายพูด ทำให้เขารู้สึกว่ามีคนรับฟังและได้รับความเคารพมากกว่า ในขณะเดียวกัน คำถามประเภทนี้ก็ดีกับผู้ถาม เนื่องจากเราไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวล่วงหน้า แต่เป็นการถามสิ่งที่ต่อยอดจากเรื่องราวของอีกฝ่ายเท่านั้น และเกิดบทสนทนาอย่างเป็นธรรมชาติด้วย

มหัศจรรย์แห่งความสงสัยและพลังที่ยิ่งใหญ่ของคำถาม

          การเลือกลักษณะคำถามให้เป็นแบบปลายปิดหรือปลายเปิด นับเป็นอีกเรื่องที่สำคัญและควรพิจารณาใช้ให้เหมาะสม คำถามปลายเปิดมักช่วยให้เราได้ไอเดียอะไรใหม่ๆ ที่เราคาดไม่ถึง แต่ก็ไม่เหมาะกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดและต้องการความชัดเจน เนื่องจากคู่สนทนาอาจจะโกหกเฉไฉไปทางอื่นได้ ในกรณีดังกล่าวคำถามปลายปิดจึงจะมีประสิทธิภาพมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อมีการกำหนดกรอบได้อย่างถูกต้อง

          ในขณะที่ลำดับของคำถามก็ส่งผลต่อคำตอบที่ต่อเนื่องกันไป ยกตัวอย่างเช่น งานศึกษาหนึ่งแสดงให้เห็นว่าเมื่อถามผู้เข้าร่วมว่า “คุณพอใจกับชีวิตของคุณแค่ไหน” ต่อด้วย “คุณพอใจกับการแต่งงานของคุณแค่ไหน” คำตอบที่ได้มักจะสัมพันธ์กัน เนื่องจากผู้คนตีความไปโดยปริยายว่าความพึงพอใจในชีวิตควรจะสัมพันธ์กับชีวิตสมรส แต่ถ้าหากถามในลำดับที่กลับกัน คำตอบทั้งสองข้อกลับมีความสัมพันธ์กันน้อยกว่า ส่วนกรณีการคุยเพื่อสานสัมพันธ์ การเริ่มจากคำถามทั่วๆ ไปก่อนคำถามที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น จะสร้างความรู้สึกดีๆ ได้มากกว่า

          บรรยากาศและน้ำเสียงที่ใช้ถามคำถามเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้คนสบายใจที่จะเปิดเผยต่างกัน งานศึกษาชี้ว่าการใช้น้ำเสียงแบบสบายๆ จะช่วยให้คนเปิดใจมากขึ้น ส่วนการแจ้งว่าทุกคนสามารถเปลี่ยนคำตอบได้ทุกเมื่อก็จะทำให้คนเปิดใจมากกว่า แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เปลี่ยนคำตอบอะไรก็ตาม ทั้งนี้การตอบคำถามก็ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์โดยรอบ เช่น ถ้ามีคนในกลุ่มเปิดใจ อีกคนก็จะเปิดตาม ดังนั้นการบริหารบรรยากาศเหล่านี้ก็สำคัญเช่นกัน

          นาธาน ยัง ที่ปรึกษาด้านการตลาดและผู้ร่วมก่อตั้ง 600 & Rising กล่าวไว้ว่า “แม้แต่คำถามง่ายๆ ก็ยังทรงพลัง การถามว่า ‘ทำไม’ จุดประกายการไตร่ตรอง และการถามว่า ‘ทำไมไม่’ ก็ขับเคลื่อนนวัตกรรม”

          ทุกคำถาม ทุกความสงสัย จึงไม่เคยเป็นเรื่องไร้สาระ ทั้งยังเปี่ยมไปด้วยคุณค่า ฉะนั้นอย่ากลัวที่จะเผชิญกับความสงสัยและอย่ากังวลที่จะตั้งคำถาม เพราะทักษะการถามและแสวงหาคำตอบนั้นคือหนึ่งในสิ่งวิเศษที่สุดที่มนุษย์ได้ครอบครอง และถ้ามีอยู่ในตัวแล้วก็ไม่มีใครสามารถแย่งเอากำเนิดพลังแห่งความรู้นี้ไปจากเราได้อย่างแน่นอน

มหัศจรรย์แห่งความสงสัยและพลังที่ยิ่งใหญ่ของคำถาม
Photo: Katerina Holmes on Pexels


ที่มา

บทความ “Six Surprising Benefits of Curiosity” จาก greatergood.berkeley.edu (Online)

บทความ “The Benefits of Being Curious” จาก community.thriveglobal.com (Online)

บทความ “What Is the Iterative Process? (Definition and Steps)” จาก indeed.com (Online)

บทความ “Curiosity Zone” จาก modelthinkers.com (Online)

บทความ “Curiosity: It Helps Us Learn, But Why?” จาก npr.org (Online)

บทความ “Why Asking Questions Is Good For Your Brand And Your Career” จาก forbes.com (Online)

บทความ “Curiosity: Why It Matters, Why We Lose It And How To Get It Back” จาก forbes.com (Online)

บทความ “Five Ways to Cultivate Curiosity And Tap Into Your Creativity” จาก forbes.com (Online

บทความ “The Surprising Power of Questions” จาก hbr.org (Online)

บทความ “Curiosity: The neglected trait that drives success” จาก bbc.com (Online)

บทความ “Curiosity and Interest: The Benefits of Thriving on Novelty and Challenge” จาก researchgate.net (Online)


บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ Lifelong Learning Focus issue 03 (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก