การศึกษาจินตนาการใหม่ ออกแบบการเรียนรู้เองได้กับ 3 พิพิธภัณฑ์ใจกลางกรุงลอนดอน

554 views
9 mins
October 23, 2022

          สถาบันการศึกษาทั้งในและนอกระบบหลายแห่งทั่วโลกกำลังขับเคลื่อนให้เกิดการ ‘Reimagine’ หรือออกแบบการเรียนการสอนแบบนอกกรอบ แต่ละแห่งก็มีทิศทางของ‘การศึกษาจินตนาการใหม่’ (Education Reimagined) ที่แตกต่างกันไป บ้างก็มุ่งเน้นการพัฒนาเครื่องมือการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล บ้างมุ่งเน้นที่การใช้นวัตกรรม หนึ่งในรูปแบบการศึกษาจินตนาการใหม่ที่ได้รับความสนใจมากขึ้นก็คือ ‘ผู้เรียนสามารถออกแบบการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง’  บทบาทของโรงเรียนและห้องเรียนในความหมายของการศึกษาจินตนาการใหม่จึงกลับทิศทางจากที่เคยเป็น คือโรงเรียนรับหน้าที่เป็น Learning Hub เตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์สื่อสาร เชื่อมโยงผู้เรียน ผู้สอน กับผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงพาผู้เรียนออกไปสัมผัสพื้นที่เรียนรู้จริง อาทิ สวนสาธารณะ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์และศูนย์เรียนรู้ โรงภาพยนตร์ หรือแม้กระทั่งแม่น้ำลำคลอง ฯลฯ

          หากเอ่ยถึงเมืองที่รุ่มรวยด้วยทรัพยากรการเรียนรู้และทุนทางวัฒนธรรม เหมาะสมกับการเปิดประตูสถานศึกษาออกมาเพื่อค้นหาพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียน ‘กรุงลอนดอน’ เมืองหลวงแห่งสหราชอาณาจักร คงเป็นชื่อแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในความคิด เพราะลอนดอนเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ พื้นที่งานศิลปะ ห้องสมุด ปราสาทราชวังต่างๆ รวมไปถึงสวนสาธารณะ กำแพงเมืองเก่า หรือแม่น้ำลำคลอง ที่เปิดให้เข้าชมเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต หากพิจารณาปัจจัยด้านนโยบาย ไม่น่าแปลกใจนักที่กรุงลอนดอนจะเต็มไปด้วยสถานที่ที่เอื้อต่อการเรียนรู้มากมายขนาดนี้ เพราะทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น ล้วนผนึกกำลังส่งเสริมการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ ดังเช่น City of London ที่พร้อมจะส่งเสริมทั้งในด้านการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ และกองทุนสนับสนุนให้นักเรียนออกมาเยี่ยมเยือนแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งเมือง

          The KOMMON เชิญชวนทุกท่านตระเวนเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนใจกลางกรุงลอนดอน 3 แห่ง Discover Children’s Story Centre, London Canal Museum และ Museum of London ทุกแห่งมีส่วนช่วยในการปรับเปลี่ยนระบบนิเวศการศึกษา เปลี่ยนผู้ชมเป็นนักสร้างสรรค์ความรู้ผ่านเรื่องเล่าและการแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างผู้เข้าชม โดยมีเทคนิคต่างๆ มาช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์แบบรายบุคคลเพื่อยืนยันว่าแท้จริงแล้วกระบวนการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ และเราต่างก็สลับบทบาทเป็นครูและนักเรียนกันทุกขณะ

Discover Children’s Story Centre 

          Discover Children’s Story Centre ให้บริการผู้ชมตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 11 ปี เป็นศูนย์สร้างสรรค์เรื่องเล่าแห่งแรกของอังกฤษที่พัฒนากระบวนการเรียนรู้ผ่าน ภาษา (Language) จินตนาการ (Imagination) และเรื่องเล่า (Stories) ภายใต้บรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกสนาน ทุกองค์ประกอบของศูนย์พาผู้ชมหลุดจากโลกแห่งความเป็นจริงและสร้างจินตนาการใหม่ มีจุดที่ทุกคนจะได้เล่าเรื่องที่ตนเองสนใจ และรับฟังเรื่องเล่าจากคนอื่น นอกจากนิทรรศการหลัก องค์ประกอบต่างๆ อย่าง ขั้นบันได ลิฟต์ ห้องน้ำ ยังถูกร้อยเรียงไปกับธีมและเอื้อให้คนทุกกลุ่มเข้าใช้บริการศูนย์แห่งนี้ได้อย่างเท่าเทียม

          ภายในอาคารแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือ Story Worlds พื้นที่จัดแสดงหลัก และ Story Garden พื้นที่กิจกรรมเสริม นิทรรศการพาผู้ชมเดินลัดเลาะไปในดินแดน Squiggly Diggly ของ Hootah ตัวการ์ตูนที่มาพร้อมกับเครื่องสำรวจเรื่องเล่าจากเด็กๆ พร้อมกับสโลแกน “Making Some Stories to Hootah” เมื่อเล่าเสร็จ Hootah จะส่งเรื่องเล่ากลับไปยังดินแดน Squiggly Diggly ซึ่งบางช่วงเป็นถ้ำจำลองให้เด็กคลานลอด เมื่อคลานผ่านตัวจับสัญญาณจะได้ยินเสียงบรรยากาศภายในถ้ำ บางช่วงต้องข้ามแม่น้ำ เด็กจะเห็นตัวเองลอยข้ามไปยังอีกฝั่งของแม่น้ำ ระหว่างทางมีเสียงนกร้องซึ่งจะดังเมื่อเครื่องดักจับบางคำที่ผู้ชมพูดผ่านลำโพง

การศึกษาจินตนาการใหม่ ออกแบบการเรียนรู้เองได้กับ 3 พิพิธภัณฑ์ใจกลางกรุงลอนดอน
Photo : JIM FIELD
การศึกษาจินตนาการใหม่ ออกแบบการเรียนรู้เองได้กับ 3 พิพิธภัณฑ์ใจกลางกรุงลอนดอน
Photo : JIM FIELD

          Discover Children’s Story Centre ตอบโจทย์การเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถออกแบบได้ด้วยตนเองอย่างแท้จริง ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ เพราะผู้มาเยือนสามารถเลือกกิจกรรมที่จะเข้าชมได้ด้วยตัวเองล่วงหน้าผ่านทางเว็บไซต์ เริ่มจากสมัคร Session Pass และเพิ่มกิจกรรมหรือนิทรรศการที่สนใจ ก่อนที่จะชำระเงินแบบออนไลน์ พื้นที่กิจกรรมเสริมเปลี่ยนธีมจัดแสดงหมุนเวียนทุกปี ไฮไลต์คือพื้นที่สำหรับแขกรับเชิญหลายอาชีพ อาทิ ศิลปิน นักวาดภาพประกอบ นักวิทยาศาสตร์ แวะเวียนมาเล่าเรื่องโดยต้องจองเข้าใช้บริการเป็นรอบ และที่ห้ามพลาดคือร้านหนังสือซึ่งได้รับการจัดอันดับให้ติด 1 ใน 5 ของร้านหนังสือเด็กในกรุงลอนดอน

          กิจกรรมที่เพิ่มเติมเสริมเข้ามาเหล่านี้ ล้วนถูกออกแบบมาเพื่อช่วยฝึกทักษะหนูน้อยให้เรียบเรียงความคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา และฝึกการสื่อสารกับเพื่อนๆ และครอบครัว เช่น

  • 100 Story Hotel เป็นกิจกรรมพิเศษที่นักเขียน และวาดภาพประกอบนิทานที่ได้รับรางวัลอย่าง Rob Biddulph มาร่วมสร้างสรรค์ เด็กๆ และผู้ปกครองที่เข้าร่วมกิจกรรมต้องมาร่วมฟังเรื่องราวของโรงแรมที่มีแขกเป็นสัตว์โลกน่ารักแวะเวียนมาพักอย่างไม่ขาดสาย อย่างคุณช้างน้อย คุณสิงโต คุณเสือ และคุณหมี เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลว่า เรื่องราวของใครที่ขาดหายไปจากเรื่องเล่า เป้าหมายของกิจกรรมที่ชวนให้เด็กๆ และผู้ปกครองมาร่วมขบคิดลับสมองประลองไหวพริบด้วยกันนี้ คือการพัฒนาทักษะการวิเคราะห์และสืบสวนให้กับหนูน้อยวัย 0-8 ปี
  • The Rainbow Builder คือกิจกรรมสำหรับเด็ก 0-3 ปี ที่ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องราวที่กระตุ้นให้เด็กๆ มีส่วนร่วม และคิดตาม เพื่อตอบโจทย์ที่นักเล่านิทานฝากเอาไว้ นักสร้างสายรุ้งจะเติมสีให้กับสายรุ้งได้อย่างไรกันนะ เมื่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวสกปรกถึงเพียงนี้

London Canal Museum

          โครงข่ายลำคลอง การใช้เรือ และการคมนาคมทางน้ำถือเป็นรากฐานวัฒนธรรมของกรุงลอนดอน เป็นที่มาของการจัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับลำคลองโดยใช้โรงน้ำแข็งเก่าสมัยวิคตอเรียซึ่งตั้งอยู่ริมคลองรีเจนท์  (Regent Canal) ในย่านคิงส์ครอสมาปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ London Canal Museum เมื่อปี 1992 เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการสัญจรทางน้ำในเขตเมือง (Inland Waterways) พิพิธภัณฑ์แห่งนี้นำเสนอประวัติศาสตร์สองเรื่องที่ซ้อนทับกันคือประวัติศาสตร์ของอาคารเดิมซึ่งเป็นกิจการนำเข้าน้ำแข็งช่วงปี 1850 ช่วงที่กรุงลอนดอนต้องสั่งน้ำแข็งธรรมชาติจากนอร์เวย์แล้วลำเลียงมาโดยเรือ อีกเรื่องคือประวัติศาสตร์คูคลองในเขตกรุงลอนดอน กลุ่มผู้ชมหลักของที่นี่ในช่วงแรกจึงจำกัดอยู่ในผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์

          แต่ล่าสุดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ให้บริการชุดเนื้อหาเกี่ยวกับลำคลองในทุกมิติให้กับผู้เรียนทุกช่วงวัย เข้ามามีส่วนร่วมกับภาคการศึกษามากขึ้น หลักสูตรเนื้อหาของ London Canal Museum แบ่งผู้ใช้ออกเป็น 3 กลุ่ม ให้บริการหลากหลายรูปแบบตามแต่ละตกลงกัน ได้แก่ Teacher & Group Leaders, Learners และ Families

  • Teacher & Group Leaders ทางพิพิธภัณฑ์จัดเตรียมหลักสูตรสั้นๆ ที่สัมพันธ์กับหลักสูตรในห้องเรียน หรือหัวข้อที่ผู้นำกลุ่มต้องการให้บรรยาย โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น ‘4 Key Stages’ ครอบคลุมกลุ่มผู้เรียนตั้งแต่อายุ 5-16 ปี ตามหลักสูตรการศึกษาของอังกฤษ คือตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึง GCSE (เทียบเท่ากับระดับมัธยมศึกษา) ลักษณะของชุดคำถามจะค่อยๆ ไล่ไปตามช่วงอายุ มีเวิร์กชอปที่ครอบคลุมความสนใจมิติต่างๆ ของคลอง อาทิ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะและการออกแบบ สิ่งสำคัญคือมี pre-visit คือผู้สอนสามารถพูดคุยกับภัณฑารักษ์ถึงเงื่อนไขและวิธีการจัดฐานเรียนรู้ก่อนเข้าเยี่ยมชม เพื่อให้การมาเยือนพิพิธภัณฑ์นั้นเกิดประโยชน์ และตอบโจทย์การเรียนรู้ของคณะผู้มาเยือนอย่างสูงสุด
  • Learners พิพิธภัณฑ์ให้บริการเนื้อหาเชิงลึกตามหัวข้อที่นำไปสู่การค้นคว้าวิจัย อาทิ การขนส่งสินค้าในช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งยังสัมพันธ์กับลำคลอง กว่าจะเป็นคลองที่เราเห็น การเชื่อมโยงโครงข่ายลำคลอง เราจะพัฒนาลำคลองให้ดีขึ้นได้อย่างไร และลำคลองกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม
  • Families หรือ กลุ่ม Home School ความพิเศษในช่วงที่ผ่านมาคือทางพิพิธภัณฑ์ออกแบบการเรียนรู้ในครอบครัวด้วยการสร้างใบงานสำหรับกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับการเยี่ยมชมสถานที่จริง โดยใบงานจะมีวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์จำนวน 12 ชิ้น ที่คัดเลือกจากความชื่นชอบของอาสาสมัครพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นคนในชุมชน เมื่อผู้เรียนเกิดความสนใจเกี่ยวกับวัตถุจัดแสดงชิ้นนั้นก็จะมีการนัดหมายกับอาสาสมัครนำชมแล้วนัดกันเข้ามาดูวัตถุจัดแสดงจริง หรือหากผู้เรียนและผู้ปกครองไม่สามารถเดินทางมาที่พิพิธภัณฑ์ได้ก็สามารถจบบทเรียนได้จากที่บ้านซึ่งเหมาะกับกลุ่มผู้เรียนที่มีข้อจำกัดในการเดินทาง

 Museum of London 

          จากการค้นพบเศษกระเบื้องโมเสกยุคโรมันบนถนน Tower Street ใจกลางเมือง Guildhall Museumถูกก่อตั้งขึ้นในช่วงปี 1826 (พ.ศ.2369) เพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุที่ยืนยันความเก่าแก่ของกรุงลอนดอนต่อมาในปี 1912 London Museum เปิดตัวขึ้นในพระราชวังเคนซิงตันใกล้กับไฮด์ปาร์ค วัตถุจัดแสดงเป็นคอลเลกชันจากยุคทันสมัย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเกิดการควบรวม London Museum และ Guildhall Museum กลายมาเป็น Museum of London โดยเริ่มเปิดให้บริการช่วงยุค 80 ตั้งแต่ปี 1993 Museum of London จึงเริ่มใช้วิธีจัดแสดงที่เรียกว่า Thematic Exhibition หรือ นิทรรศการที่จัดแสดงตามหัวเรื่องภายใต้หัวข้อ The Peopling of London โดยตั้งใจบอกเล่าความหลากหลายของผู้คนที่เรียกตัวเองว่า Londoner หรือ ชาวลอนดอน

          นับแต่ยุค 80 เป็นต้นมาลอนดอนเป็นเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายกลุ่ม บางกลุ่มถูกเบียดขับให้กลายเป็นคนชายขอบ (Marginalized Communities) แต่ละกลุ่มต้องการพื้นที่ในการบอกเล่าเรื่องของตัวเองผ่านมิติที่ต่างกัน แน่นอนว่าการจัดแสดงในลักษณะนี้ต้องการผู้ที่ทำหน้าที่ภัณฑารักษ์รับเชิญ หรือ Guest Curator ที่มาจากมาจากกลุ่มต่างๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง การจัดแสดงแบบ Thematic Exhibition จึงช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างพิพิธภัณฑ์กับกลุ่มทางสังคมจำนวนมาก และทุกกลุ่มกลายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและมีส่วนร่วมกับพิพิธภัณฑ์ สามารถบอกเล่าเรื่องของตัวเองผ่านหัวเรื่องจัดแสดงที่หลากหลาย ไม่ถูกกดทับด้วยเส้นเรื่องหลักและเงื่อนของเวลาที่กำหนดไว้แบบตายตัว

การศึกษาจินตนาการใหม่ ออกแบบการเรียนรู้เองได้กับ 3 พิพิธภัณฑ์ใจกลางกรุงลอนดอน
Photo : Chris McKenna, CC BY-SA 2.0 via Wikimedia Commons
การศึกษาจินตนาการใหม่ ออกแบบการเรียนรู้เองได้กับ 3 พิพิธภัณฑ์ใจกลางกรุงลอนดอน
Photo : The wub, CC BY-SA 4.0 via Wikimedia Commons

          Museum of London เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีว่านอกจากโบราณวัตถุที่อัดแน่นด้วยคุณภาพ บอกเล่าเรื่องราวของลอนดอนตั้งแต่ยุคก่อนโรมันมาจนถึงยุคทันสมัย ที่นี่ยังเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีการออกแบบนิทรรศการโดยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของผู้ชมมาโดยตลอด มีเทคนิคและแนวคิดทางวิชาการรองรับ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ธีมสี การคัดกรองเนื้อหา หรือการคัดสรรรูปแบบกิจกรรมสำหรับผู้ชม เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ชมจะซึมซับเรื่องราว และเกิดประสบการณ์ลึกซึ้งจากการชมนิทรรศการ ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการแบบถาวรหรือหมุนเวียน อาทิ

  • London before London นิทรรศการนี้บอกเล่าเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ของลอนดอน นำเสนอผ่านลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่มีแม่น้ำเทมส์โอบล้อมเมือง โดยเลือกใช้พื้นหลังนิทรรศการสีฟ้าและการจัดวางวัตถุที่สอดคล้องกับเนื้อหา  กิจกรรมที่จัดในส่วนของนิทรรศการมีทั้งส่วนที่เป็นเวิร์กชอปโบราณวัตถุ ชุดข้อมูลออนไลน์สำหรับสถานศึกษาที่สามารถเช็คดูได้ก่อนที่จะเดินทางมาเยือนพิพิธภัณฑ์
Written in Bone ส่วนหนึ่งของนิทรรศการ London before London

  • War, Plague & Fire นิทรรศการนี้ผ่านการคัดสรรเรื่องราว ผ่านการออกแบบการเรียบเรียงข้อความที่กระตุ้นให้ผู้ชมรับรู้ประสบการณ์ เกิดอารมณ์ ความรู้สึกสะเทือนใจตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้นมากกว่าจะบอกเล่าข้อมูลแบบเรียบง่ายและเป็นทางการ โดยเลือกประเด็นที่สร้างอารมณ์และความรู้สึกร่วม เช่น ไฟไหม้ลอนดอนครั้งใหญ่ หรือการแพร่ระบาดของกาฬโรค
Great Fire of London เรื่องราวไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่ลอนดอน

          นอกจากนิทรรศการทั้งแบบถาวร และนิทรรศการหมุนเวียนที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวลอนดอนแบบครบถ้วนหลากหลายมุมมอง ในปัจจุบัน Museum of London ยังให้บริการกิจกรรมเวิร์กชอป ที่เปิดโอกาสให้ครอบครัวชาวลอนดอนเนอร์ได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ ผ่านเรื่องราวของประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวของชาวโรมันที่เคยอยู่อาศัยในลอนดอน อาทิ กิจกรรมโรมันวอล์ก (เดินสำรวจโบราณสถานในลอนดอน) เวิร์กชอปเกี่ยวกับโมเสกและโบราณวัตถุ กิจกรรมต่อเลโก้เป็นกำแพงเมืองโรมัน หรือแม้กระทั่งเกมออนไลน์ที่ชวนเด็กๆ มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์และฝึกทักษะการวางแผนผ่านโลกดิจิทัล

          แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนในลอนดอนทั้ง 3 แห่ง ช่วยฉายภาพการทำงานของแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนที่เข้ามาเสริมบทบาทให้กับห้องเรียนในระบบการศึกษา และตอบคำถามว่าเราจะไปถึงการศึกษาจินตนาการใหม่ได้อย่างไร พิพิธภัณฑ์หลายแห่งในลอนดอนมีชุดข้อมูลพิเศษสำหรับกลุ่มผู้มาเยือนแบบหมู่คณะที่มาจากสถานศึกษา และยังมีข้อมูลออนไลน์สำหรับการศึกษาทั้งในและนอกระบบ ทั้งส่วนที่ตอบสนองต่อหลักสูตร และหัวข้อประวัติศาสตร์เชิงลึก การมีพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งใจทำงานการศึกษาเชิงรุก ห้องสมุดที่ทันสมัยตอบโจทย์การเรียนรู้ ศูนย์การเรียนรู้หรือศูนย์ฝึกอาชีพที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมไม่ได้เริ่มจากเทคโนโลยีชั้นสูง แต่เริ่มจากการให้ความสำคัญกับผู้ชม เชื่อมั่นในศักยภาพการเรียนรู้ของมนุษย์และพร้อมทลายกรอบการเรียนแบบเดิม เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเลือกสรรประเด็นที่จะเรียนรู้ และมีโอกาสแลกเปลี่ยนในฐานะผู้สร้างเนื้อหาการเรียนรู้ ดังเช่นกรณีศึกษาที่ได้หยิบยกมาบอกเล่าในบทความนี้


ที่มา

บทความ “DISCOVER CHILDREN’S STORY CENTRE” จาก studioweave.com (Online)

บทความ “EDUCATION, CULTURAL & CREATIVE LEARNING, ABD SKILLS STRATEGIES” จาก  cityoflondon.gov.uk (Online)

บทความ “Museum London” จาก carleton.ca (Online)

บทความ “THEMATIC EXHIBITIONS: AN APPROACH TO CURATING” จาก ime.gr (Online)

เว็บไซต์ Discovery Children’s Story Centre (Online)

เว็บไซต์ Education Reimagined (Online)

เว็บไซต์ Museum of London (Online)

วิดีโอ “Hootah” จาก youtube.com (Online)

Cover Photo : Discover Children’s Story Centre

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก