บทวิจารณ์ ‘ช่องว่างระหว่างความหมาย’ กับการอ่านแบบสามมิติ

625 views
6 mins
October 11, 2023

          ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์ เป็นนักเขียนผู้มีผลงานทั้งรวมเรื่องสั้นและนวนิยาย เช่น ผู้คนบนโลกนี้ต่างหวาดกลัวกันและกัน, Oh My Dear, 2020, อีกเสี้ยวหนึ่งของโอบกอด เป็นต้น เป็นนักแปล เช่น On the Road (สู่หนไหน) ของแจ็ค เครูแอ็ก, Factotum (งานบัดซบ) ของชาร์ลส์ บูคาวสกี, The Cruise of the Dazzler ของแจ็ค ลอนดอน เป็นบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ตำหนัก (Tamnak Press)

          กล่าวถึงผลงานเล่มล่าสุด ‘ช่องว่างระหว่างความหมาย’ นวนิยายที่เล่าชีวิตวัยมัธยมปลายถึงที่มาและที่ไป ให้ย้อนรำลึกช่วงวัยเปลี่ยนผ่านตัวตนกับโมงยามความสัมพันธ์ โดยมีครอบครัว เพื่อน โรงเรียนและประสบการณ์ประหลาดที่ต่างหลอมรวมคนคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นเป็นคนเจนวาย (Gen Y) อย่างในปัจจุบัน

          ฉากหลังเกิดในยุค 90s ที่การศึกษาของเด็กมัธยมปลายต้องสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย แต่ ‘มิว สุขสวัสดิ์’ เด็กต่างจังหวัดกลับต้องพบและเผชิญกับการเรียนรู้ชีวิตทั้งในและนอกห้องเรียนซึ่งถูกแวดล้อมด้วยเรื่องของการบูลลี่ มิตรภาพ ความรัก ความรับผิดชอบต่อตนเอง ความเป็นสุภาพบุรุษ โดยมีบทเพลง ภาพยนตร์ วรรณกรรมเข้ามาเชื่อมโยงประกอบสร้าง อีกทั้งเหตุการณ์ 9/11 ข่าวสารการเมืองไทยจากหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ที่ถูกบันทึกเป็นทรงจำส่วนตัว ล้วนเป็นข้อมูลสำคัญและมีอิทธิพลทางความคิดต่อ ‘มิว สุขสวัสดิ์’ ให้เริ่มต้นแสวงหา สั่งสม เลือกเส้นทางชีวิต จนค้นพบตัวตน ความหมายที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดและบทสนทนาอันสั้นกระชับ

          ทั้งนี้ หากผู้อ่านติดตามผลงานของภู่มณีจะสังเกตเห็นว่า นวนิยายของเขาเกือบทุกเล่มจะให้ ‘มิว สุขสวัสดิ์’ เป็นตัวละครนำ ซึ่งมักจะลุ่มหลงบทเพลง วรรณกรรม ภาพยนตร์ ความรักความสัมพันธ์ และเซ็กซ์ แต่อาจมีรายละเอียดที่แตกต่าง เพราะภู่มณีมีประสบการณ์จากการใช้ชีวิต ผลงานแต่ละเล่มจึงนำอัตชีวประวัติ (Autobiography) ช่วงใดช่วงหนึ่งมาบอกเล่าด้วยน้ำเสียงเป็นกันเอง อย่าง ‘ช่องว่างระหว่างความหมาย’ นี้ ก็เป็นช่วงวัยมัธยมปลายที่กำลังเปลี่ยนผ่าน (Coming of Age) หากผู้อ่านมีประสบการณ์ร่วมกับบางเรื่อง บางฉากในเล่ม ยิ่งจะทำให้รู้สึกและหวนย้อนอดีต (Nostalgia) ของตนได้

          อย่างไรก็ตาม นวนิยายเรื่องนี้มีลักษณะการเล่าในรูปแบบบันทึก (Diary) ที่ถูกนำมาร้อยเรียงใหม่ให้เป็นวรรณกรรม ภู่มณีจึงเน้นบรรยากาศของเรื่อง โดยเฉพาะความรักใคร่และมิตรภาพระหว่างเพื่อน ทำให้ผลงานเล่มนี้มีสไตล์ฟีลกู๊ด (Feel Good) คือนอกจากจะเรียบง่าย เล่าอย่างตรงไปตรงมา มีอารมณ์ขันแล้ว ‘ช่องว่างระหว่างความหมาย’ ยังเป็นงานที่ไม่มีพล็อตอีกด้วย

มิติที่หนึ่ง: ขี้ ความหมาย และการจัดการกับชีวิต

          “ฉัน ‘ขี้’ ฉันจึงมีอยู่” (น.13)

          เป็นประโยคเปิดเรื่องที่ชวนติดตาม แม้จะดูน่ารังเกียจ กระอักกระอ่วนเวลาพูดถึงก็ตาม แต่กลับแฝงความหมายเชิงปรัชญา ซึ่งในตัวบทจะขอยกตัวอย่าง 4 ฉากมาอธิบายดังนี้

          “ผมจะต้องเผชิญกับความวายป่วงอันเกิดจาก ขี้ เพราะมันเป็นวันแรกที่อาปล่อยให้ผมนั่งรถเข้ากรุงเทพฯเพียงลำพัง” (น.18)

          ข้อความข้างต้น เป็น ฉากแรก ที่ “ผม” หรือ ‘มิว สุขสวัสดิ์’ ขี้ หลังจากมีอาการตื่นเต้น เมื่อต้องนั่งรถจากบางบัวทองเข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรกเพียงลำพัง เพื่อไปเรียนกวดวิชาแถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งสร้างความแปลกที่ และแปลกหน้าให้กับมิวจนเสียอาการและปราศจากสุข

          ฉากที่สอง มิวไปพบอาแต๊ก พ่อของฟางที่บ้าน เพื่อไปดูคู่มือการเล่นกอล์ฟของเฟรดดี้ พอมิวรู้ว่าอาแต๊กจะให้ยืมคู่มือภาษาอังกฤษเล่มดังกล่าว มิวจึงตื่นเต้นและปวดท้องเข้าห้องน้ำ

          ฉากที่สาม มิวเริ่มปวดขี้และเข้าห้องน้ำ หลังจากดูรายงานพิเศษเหตุการณ์ 9/11 ที่เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ โดยมีจักรภพ เพ็ญแข และ กิตติมา ณ ถลาง รายงานและวิเคราะห์สถานการณ์เป็นภาษาอังกฤษ

          และ ฉากที่สี่ เกิดขึ้นเมื่อมิวชวนฟางมาดูหนังที่บ้าน ระหว่างนั้นมีการดื่มเบียร์กระป๋องด้วยกัน และมิวดันปวดขี้ขึ้นมา

          จากสี่ฉากเกี่ยวกับ “ขี้” ข้างต้น ฉากแรกมิวจัดการปัญหาด้วยการลงจากรถเมล์และขอเข้าห้องน้ำที่ร้านข้าวมันไก่ เพื่อล้างเนื้อตัวให้สะอาด แต่มันก็ยังมีกลิ่นติดตามร่างกายในความรู้สึก จนต้องแวะ 7-11 เพื่อซื้อสเปรย์น้ำหอมมาฉีดก่อนจะนั่งรถแท็กซี่กลับ โดยวันนั้นเขาไม่ได้ไปเรียนพิเศษแต่กลับมาคิดว่าตนเองต้องปรับเปลี่ยนวิธีกินข้าวอย่างไร จะได้ไม่ปวดขี้เวลานั่งบนรถเมล์นานหลายชั่วโมง ส่วนฉากที่สอง มิวขอตัวเข้าห้องน้ำลูกค้าชั้นล่าง พร้อมกับดูหนังสือเล่มนั้นไปด้วย ซึ่งต่อมากลายเป็นแรงบันดาลใจให้มิวหมกมุ่นอยากแปลหนังสือ ฉากที่สาม หลังจากดูและฟังเหตุการณ์ 9/11 ที่เกิดขึ้น มิวก็เข้าห้องน้ำ ระหว่างนั้นก็ขบคิด ตั้งคำถามว่า ต่อจากนี้โลกจะไม่สงบสุขหรือจะเกิดสงครามหรือไม่ แต่จักรภพ เพ็ญแข ก็กลายมาเป็นไอดอลของมิวให้อยากศึกษาต่อปริญญาตรีเอกภาษาอังกฤษ และฉากที่สี่ มิวสารภาพกับฟางตรงๆ ว่า หลังจากดูหนังที่มีฉากน่าตื่นเต้นแล้ว คืนนั้นยังเป็นการดื่มเบียร์ครั้งแรกอีกด้วย

          ข้อสังเกตคือ ภู่มณีจะเน้นคำว่า“ขี้” เป็นตัวเอน เริ่มเรื่องจะใช้คำนี้ถี่มาก ก่อนลดน้อยลงและหายไปในฉากจบ เหลือเพียงความตื่นเต้นหลังจากสอบสัมภาษณ์และลืมสิ่งของไว้ในห้องน้ำเท่านั้น

          ขี้” นอกจากจะแฝงความหมายเชิงปรัชญาที่มนุษย์ต้องปลดทุกข์เพื่อความสุขแล้ว บางครั้งอาการปวดขี้ยังเกิดจากความตื่นเต้น ภาวะเครียด หรือสถานการณ์ที่รับมือได้ยาก มันจึงเป็นอุปมา (Simile) สะท้อนชีวิตว่ามนุษย์จะจัดการ แก้ปัญหา หรืออยู่กับมันได้อย่างไร โดยไม่สะดุด (เช่นเดียวกับการอ่านตัวบทและพบตัวเอน) แต่มิวก็สามารถเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เช่นเดียวกับการตั้งคำถามในฉาก 2 และ 3 ซึ่งทำให้มิวอยากแปลหนังสือและเลือกเรียนต่อปริญญาตรีเอกภาษาอังกฤษ หรือการยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น และแก้ปัญหา ปรับเปลี่ยนวิธีกินข้าวอย่างในฉากที่ 1 และ 4 เพราะ

          “ใครก็ต้อง ขี้ ป่าววะ…” (น.60)

          นอกจากนี้ อาการปวดขี้ยังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เช่น นั่งรถเข้ากรุงเทพฯ ไปบ้านพ่อเพื่อน ดูเหตุการณ์ 9/11 เจอจักรภพ เพ็ญแข รายงานข่าว และดื่มเบียร์ครั้งแรก ซึ่งทุกอาการเกิดจากความตื่นเต้นทั้งในบ้านและนอกบ้าน

          อาจกล่าวได้ว่า อาการปวดขี้สามารถเกิดได้ทุกที่ เป็นเรื่องปกติและไม่ปกติ แต่มันไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย กลับเป็นปัญหาใหญ่สำหรับบางคนว่าจะรับมือได้หรือไม่ จะใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียน เพื่อวางแผนชีวิต และเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร ซึ่งในฉากจบของนวนิยายเรื่องนี้ มิวก็สามารถก้าวข้ามความตื่นเต้นหลังจากเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้

บทวิจารณ์ ‘ช่องว่างระหว่างความหมาย’ กับการอ่านแบบสามมิติ
Photo: Cyril Attias, CC BY-NC-ND 2.0, via Flickr

บทวิจารณ์ ‘ช่องว่างระหว่างความหมาย’ กับการอ่านแบบสามมิติ
ภาพตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ซึ่งมีความสูงกว่า 400 เมตร ถูกเครื่องบินพุ่งชน
Photo: Cyril Attias, CC BY-NC-ND 2.0, via Flickr

มิติที่สอง: การศึกษา การเมือง ในทัศนะของเด็กวัยมัธยมปลายยุค 90s

          เนื่องจากการเรียนของเด็กมัธยมปลายยุค 90s ต้องสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย นวนิยายเรื่องนี้จึงสะท้อนหลายมิติ ทั้งความคาดหวังและความเข้มงวดของครอบครัว การตัดสินใจ ความคิดต่อระบบการศึกษา และการเมืองระดับประเทศ

          ภู่มณีนำเสนอภาพครอบครัวชนชั้นกลางในชนบท ทั้งมิวและฟางต่างมีฐานะทางการเงินและสังคม พ่อมิวเป็นพนักงานธนาคาร แม่ทำงานสาธารณสุข แม้จะหย่ากัน แต่มิวก็ไม่ได้ขาดความอบอุ่น พ่อและย่าอาจเข้มงวด เพราะคาดหวังว่ามิวจะเรียนดีและเก่งเหมือนพี่สาวที่สอบติดแพทย์ จนทำให้มิวกดดันตัวเอง และกล่าวย้ำว่า “ผมไม่ได้ฉลาดปราดเปรื่อง” ถึง 3 แห่ง ส่วนแม่อาจให้อิสระกับลูก ไม่เข้มงวด ส่วนบ้านฟางก็ทำธุรกิจร้านวัสดุก่อสร้าง รู้จักเพื่อนฝูงนักการเมืองท้องถิ่น และฟางดูจะเรียนเก่งกว่ามิว ซึ่งทั้งสองคนต่างล้วนมีโอกาสมากกว่าเด็กคนอื่นๆ

          มิวเริ่มสนใจภาษาอังกฤษหลังจากหัดแปลคู่มือเล่นกอล์ฟ ก่อนพ่อจะบอกให้เลิกและหันมาแปลข่าว มิวเริ่มจากคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร โดยพ่อจะนำหนังสือพิมพ์ต่างประเทศฉบับเก่าจากที่ทำงานมาให้ จากนั้นก็ดูหนัง ฟังเพลง ไปเรียนภาษาอังกฤษกับเจ้าของภาษา ซึ่งเป็นรากฐานและหล่อหลอมให้มิวตัดสินใจว่าจะเลือกเรียนด้านภาพยนตร์หรือภาษาอังกฤษ สุดท้ายมิวก็สามารถเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และนำพอร์ตโฟลิโอที่เลือกแปลนวนิยายเรื่อง ‘ล่องไปกับแดซเลอร์’ ของแจ็ค ลอนดอน ไปใช้ในการสอบสัมภาษณ์ (น.124)

          ซึ่งตัวบทแปลที่ภู่มณียกมาเป็นตัวอย่าง ยังกลายเป็นสัมพันธบท (Intertexuality) ที่พ่อให้เสรีภาพแก่ลูกในการคิดและตัดสินใจ อีกทั้งชื่อมหาวิทยาลัยและนวนิยายล้วนเป็นส่วนหนึ่งในอัตชีวประวัติด้านการเรียนและการงาน (Autobiography) ของภู่มณี ด้วย

          นอกจากนี้ ยุค 90s ผู้คนสนใจแต่ตัวเอง ไม่สนใจการเมือง ข่าวสารทางโทรทัศน์ถือว่ามีอิทธิพลต่อความคิดของประชาชนสูง  เมื่ออินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายอย่างในปัจจุบัน ต่างจากทุกวันนี้ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงมันได้ การแข่งขันด้านการศึกษาเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการตื่นรู้ การมีส่วนร่วมทางการเมืองและประวัติศาสตร์

          ทุกคนต่างเอาตัวรอด สนใจแต่ตัวเอง ไม่สนใจการเมือง มิวจึงไม่เข้าใจเรื่องระบบรัฐสวัสดิการ ต่างจากฟางที่มีความคิดก้าวหน้า และเลือกจะเรียนต่อทางรัฐศาสตร์

          “ตกลงมึงจะเข้าเรียนที่ไหนวะ ผมหันมาถามไอ้อ่อง

          กูเหรอ เรียนรามมั้ง

          ง่ายๆ แบบนั้นเลยเหรอวะ

          เออ มึงมีปัญหาไร

          เปล่าๆ ไม่มี” (น.100)

          ข้อความข้างต้น เป็นบทสนทนาระหว่างมิวกับไอ้อ่องถึงสถานที่เรียนต่อในอนาคต ผู้อ่านอาจมองว่าเป็นบทสนทนาธรรมดา ไม่มีอะไร แต่มันสะท้อนแนวคิดของผู้ถามคือมิว ในฐานะชนชั้นกลางที่มีโอกาสและทางเลือกมากกว่า ต่างจากไอ้อ่องที่เลือกเรียนมหาวิทยาลัยตลาดวิชา เพราะมิวไม่รู้ว่าเพื่อนต้องเรียนและทำงานไปด้วย เมื่อทุกคนต่างมีต้นทุนชีวิตและรากฐานครอบครัวที่มองถึงอนาคตของลูกในเรื่องการศึกษาไม่เหมือนกัน ซึ่งนอกจากสถานที่เรียนต่อแล้ว มันยังส่งผลถึงการงาน การแข่งขันและสภาพแวดล้อมของสังคมที่จะหล่อหลอมคนคนนั้นให้เติบโตไปเป็นคนแบบไหนด้วย

          “การไปตัดสินคนอื่นด้วยความคิดคับแคบ นับเป็นเรื่องโง่เง่าที่สุดในชีวิต ผมไม่เคยให้อภัยตัวเองเลย ไม่ใช่ทุกคนจะเกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่สามารถเลี้ยงดูจุนเจือ ส่งเสียให้เรียนที่ไหนก็ได้ บางคนจำเป็นต้องส่งตัวเองเรียน ถีบตัวเองให้มีโอกาสเรียน” (น.101)

          คำสารภาพผิดข้างต้น ตอกย้ำว่ามิวไม่รู้อะไรในโลกนี้อีกมากมาย ซึ่งความคิดคับแคบนั้นอาจมาจากความรู้ไม่พอหรืออ่อนต่อโลก ไม่มีโอกาสได้เปิดอกพูดคุยด้วยเหตุผลหรือโต้เถียงอย่างจริงจัง เพราะเด็กยุค 90s ต่างเชื่อฟังสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการหรือคาดหวังมาโดยตลอด มิวจึงยังไม่เข้าใจเรื่องรัฐสวัสดิการ ว่าเด็กทุกคนควรเรียนฟรีจนจบปริญญาตรี (หรือไม่) รวมถึงโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ควรต้องมีเท่ากัน แม้กระทั่งทัศนะที่มีต่อสถานศึกษาของรัฐ เอกชน และตลาดวิชาว่ามีคุณภาพหรือแตกต่างกันอย่างไร

มิติที่สาม: บางฉากจากช่องว่างระหว่างความหมาย

          ชื่อนวนิยายเรื่องนี้ของภู่มณี ชี้ชวนให้ผู้อ่านค้นหาความหมายระหว่างบรรทัด ซึ่งบทวิจารณ์นี้จะหยิบยกตัวอย่างมาอธิบาย 2 ฉาก ดังนี้

          ฉากแรก

          “เป็นสุภาพบุรุษนะลูก” (น.119)

          ข้อความข้างต้น เป็นคำกล่าวของแม่ที่ทิ้งท้าย หลังออกจากบ้านไปกินเลี้ยงกับเพื่อน ปล่อยให้มิวและฟางอยู่ด้วยกัน ซึ่งทั้งสองคนนัดมาดูหนังที่บ้าน

          ความหมายแรก ไม่ใช่คำเตือนหรือการห้ามเสียทีเดียว แต่เป็นคำสอนที่แม่ต้องการสื่อให้ลูกรู้จักคิดและไตร่ตรอง โดยให้เกียรติผู้หญิงและคำนึงถึงความเป็นสุภาพบุรุษ

          ความหมายที่สอง ฟางและมิวเป็นเพื่อนกัน อยู่ด้วยกันสองต่อสอง อาจเลยเถิดมีความสัมพันธ์กันได้ ความเป็นสุภาพบุรุษในที่นี้จึงหมายถึง ไม่ควรชิงสุกก่อนห่าม หากเผลอไผลก็ควรรู้จักป้องกัน สวมถุงยางอนามัย เพราะอย่าลืมว่าแม่ทำงานด้านสาธารณสุข และเป็นความรับผิดชอบที่ผู้ชายควรมีตั้งแต่แรก

          แต่ “ความเป็นสุภาพบุรุษ” ที่แม่พูดดักคอไว้ก่อน ก็ทำให้ทั้งมิวและฟางยับยั้งชั่งใจ ได้แค่สารภาพรักและนอนกอดกัน นับเป็นฉากที่โรแมนติกแบบฟีลกู๊ด (Feel Good)

          ฉากที่สอง

           “ตื่นเต้นอีกแล้วอะดิ

          ใช่ ผมพูดเสียงค่อย

          พูดค่อยจัง

          อยู่กับพ่อน่ะ ผมบอก ก่อนจะหันไปมองเงาตัวเองถือโทรศัพท์มือถือแนบหูกับกระจกรถข้างประตู

          พรุ่งนี้ว่างแล้วใช่มั้ย ฟางถามอีก

          ว่างแล้วๆ ผมรับตอบ

          ไปดูหนังบ้านแกนะ

          ได้ดิ ผมหัวเราะ

          หัวเราะอะไร

          เปล่า ไม่มีอะไรหรอก ผมหันมาเงยหน้ามองถนนที่ทอดยาวเบื้องหน้า มันมีความหมายบางอย่าง…” (น.125)

          ข้อความข้างต้น เป็นบทสนทนาของมิวกับฟางที่เรียบง่าย เป็นกันเอง แสดงถึงความสนิทสนม รู้ใจกัน ซึ่งมันจะมีเพื่อนแบบนี้กี่คนในชีวิตที่เราสามารถพูดคุยไม่ว่าจะอะไรก็ได้ทุกเรื่อง และหลังมิวออกจากห้องสอบสัมภาษณ์ ระหว่างการพูดคุยจึงมีช่องว่างของช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ ทั้งความตื่นเต้นที่อยากบอกเล่า กำลังใจ ความเขินอาย ภาพสะท้อน และกิจกรรมดูหนังที่ฟางนัดมิว ซึ่งอาจเป็นสิ่งสุดท้ายที่ทั้งสองคนจะได้ทำร่วมกัน มันจึงมีความหมายที่เรายังได้พบกันอีก ก่อนแต่ละคนจะแยกย้ายไปเรียนต่อ มีโลก มีเพื่อนและอนาคตเป็นของตน แต่คำว่ามิตรภาพของเรานั้นยังดำรงคงอยู่

          นอกจากนี้ บทสนทนาดังกล่าวยังชวนตีความ โดยเฉพาะ “พูดค่อยจัง อยู่กับพ่อน่ะ ผมบอก ก่อนจะหันไปมองเงาตัวเองถือโทรศัพท์มือถือแนบหูกับกระจกรถข้างประตู” ซึ่งภาพสะท้อนนี้ อาจทำให้มิวเห็นสีหน้าท่าทีของตัวเองโดยไม่รู้ตัว รวมถึงบทสนทนาที่อยากปิดบัง ไม่อยากให้พ่อรู้ ต้องการความเป็นส่วนตัวด้วย มันจึงมีอะไรที่ซ่อนอยู่มากกว่าบทสนทนา เพราะหากสังเกต ผู้อ่านจะได้ยินแค่เสียงโต้ตอบกัน มีเพียงมิวที่เห็นตัวเองในระยะใกล้ และเขาก็ได้ค้นพบแล้ว หลังจากเงยมองถนนที่ทอดยาวเบื้องหน้า เพราะชีวิตต้องดำเนินต่อไป และเราเท่านั้นที่เป็นผู้กำหนด รวมถึงมุ่งไปเพื่อค้นหาและเก็บเกี่ยวระหว่างทาง

          อีกทั้ง บทสนทนาในฉากจบ อาจทำให้ผู้อ่านเผลอยิ้ม อิ่มเอม ดีใจ และรู้สึกร่วมไปกับบรรยากาศความสำเร็จของตัวละคร หรือทำให้หันกลับมาทบทวนและมองย้อนอดีตของตนได้ชัดขึ้น

          นวนิยายเรื่องนี้ มีความเป็น Coming of Age อย่างที่เกริ่นไว้แต่ต้น คือ เมื่อฟางและมิวต่างเติบโตขึ้น โดยที่ฟางรู้ว่ามิวต้องตื่นเต้น เธอจึงโทรหา และไม่ว่าจะเรื่องดีหรือร้าย ทุกคนต้องก้าวข้ามและเปลี่ยนผ่านมันไปให้ได้ เช่นเดียวกับอาการตื่นเต้นที่เกิดขึ้นกับมิวในขณะนั้น มันไม่ได้ทำให้ปวดขี้อีกต่อไปแล้วนั่นเอง

          สุดท้าย การอ่านแบบสามมิติในบทวิจารณ์นี้ จึงชี้ชวนให้ผู้อ่านร่วมเปิดมุมมองและค้นหาความหมายของความสัมพันธ์ ทั้งในระดับปัจเจกที่เกี่ยวกับเพื่อน เพศ ครอบครัว การศึกษา การเมือง บทเรียน ประสบการณ์ส่วนตัว ที่สำคัญมันยังบันทึกยุคสมัยผ่านเรื่องเล่า เหตุการณ์หรือทรงจำของเราให้หันกลับมาทบทวนว่า อดีตนั้นส่งผลต่อวิธีคิดและชีวิตปัจจุบันหรือในอนาคตของแต่ละคนมากน้อยเพียงใด

บทวิจารณ์ ‘ช่องว่างระหว่างความหมาย’ กับการอ่านแบบสามมิติ
Photo: ชาคริต แก้วทันคำ

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก