‘คู่มือสร้างนักนวัตกรรมเปลี่ยนโลก’ หนังสือที่ชวนออกแบบสภาพแวดล้อมที่สำคัญกับนวัตกร

937 views
5 mins
August 17, 2022

“การเป็นนวัตกรและผู้ประกอบการเป็นทั้งพรและคำสาป เป็นพรเพราะคุณมีความสามารถที่จะมองเห็นและทำสิ่งที่คนรอบตัวอาจทำไม่ได้ เป็นคำสาปเพราะคุณต้องทำงานหนักหลายอย่างกว่าจะตระหนักถึงศักยภาพของตัวเอง และคุณต้องทำเช่นนั้น ความพึงพอใจส่วนตัวและอนาคตของประเทศและโลกใบนี้ล้วนแขวนอยู่บนเส้นด้าย”

ในหน้าสุดท้ายของบทส่งท้าย จดหมายถึงนวัตกรรุ่นใหม่ ส่งสารถึงนักอ่านไว้แบบนั้น เป็นข้อความที่สรุปรวบยอดได้ดีว่าการสร้างนวัตกรสักคนต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างไรบ้าง

หากเราลองสังเกตสภาพแวดล้อม ความซับซ้อนทางสังคม และส่วนประกอบของการดำเนินชีวิตของเราในปัจจุบัน หน้าตาของเมืองและสภาพสังคมล้วนเปลี่ยนแปลงและแตกต่างไปจากครั้งเมื่อเรายังเยาว์วัยอยู่มาก โดยหนึ่งในปัจจัยของการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีต่างๆ ที่สังคมรับมาใช้เพื่อแก้ปัญหา หรืออำนวยความสะดวกให้คนในสังคมใช้ชีวิตกันได้ง่ายขึ้น

หนังสือ Creative Innovators – The Making of Young People Who Will Change the World คู่มือสร้างนักนวัตกรรมเปลี่ยนโลก โดยโทนี วากเนอร์ (Tony Wagner) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University)เริ่มต้นจากตั้งคำถามเรื่องการปลูกฝังทักษะนวัตกรให้กับลูกในฐานะพ่อ ไปจนถึงการตั้งคำถามถึงวิธีจากโรงเรียนชั้นนำของโลก หรือแม้แต่นายจ้าง ว่ามีวิธีการสร้างคนทำงานรุ่นใหม่ๆ อย่างไร ‘ระบบนิเวศ’ ที่เหมาะสมกับทักษะของคนรุ่นใหม่คืออะไร

อย่างที่บอกว่านวัตกรรมถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ขับเคลื่อนความเจริญและการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคม หลายครั้งนวัตกรรมเจ๋งๆ อาจมีผลถึงขั้นเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตของคนในสังคมไปแบบก้าวกระโดดอย่างที่เราไม่เคยคิดถึงมาก่อน ซึ่งต้นตอของนวัตกรรมเหล่านี้ก็เกิดขึ้นจากเหล่า ‘นวัตกร’ ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมนอกกรอบและเป็นประโยชน์ต่อการบริโภคและสังคมในภาพรวม การหันมาพัฒนา ‘นวัตกร’ ให้เด็กรุ่นปัจจุบัน จึงอาจเป็นการออกแบบเศรษฐกิจและสังคมของเราในอนาคต

เพื่อหาคำตอบถึงวิธีการพัฒนานวัตกรที่ดี โทนี วากเนอร์ ได้สัมภาษณ์นวัตกรดาวรุ่งจากหลายสาขา ตั้งแต่นวัตกรสังคม ผู้ปกครอง ครู ที่ปรึกษาของพวกเขา ผู้นำทางธุรกิจ ไปจนถึงผู้นำทางการทหาร รวมกันกว่า 150 คน โดยได้เล่าเรื่องราวของผู้คนที่เขาได้พูดคุยผ่านหนังสือเล่มนี้ พร้อมสะท้อนมุมมองเรื่องทักษะที่สำคัญของนวัตกรที่ประสบความสำเร็จ เหตุผลที่ทักษะเหล่านั้นสำคัญต่ออนาคตของเรา

และ ‘เรา’ ในฐานะสมาชิกในสังคม จะมีส่วนช่วยในการพัฒนานวัตกรเหล่านี้ได้อย่างไร 

สรุปโดยคร่าว ทักษะที่จำเป็นในการเป็นนวัตกรที่ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย ความสงสัยใคร่รู้ ซึ่งเกิดจากนิสัยช่างสังเกต และการรู้จักตั้งคำถามที่ดีจนเป็นนิสัย โดยการตั้งคำถามเหล่านั้นเกิดจากความต้องการที่จะเข้าใจ/ เรียนรู้เรื่องนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง การร่วมมือ ซึ่งเริ่มต้นจากการฟังและเรียนรู้จากผู้อื่นที่มีมุมมองและความเชี่ยวชาญแตกต่างจากเรามาก ความคิดเชิงบูรณาการ คือการคิดแบบเชื่อมโยงและการประยุกต์เรื่องที่หลากหลายต่างๆ เข้าด้วยกัน และท้ายที่สุด ต้องมี แนวโน้มที่จะลงมือทำและทดลอง ในเรื่องที่สงสัยโดยการร่วมมือและการบูรณาการต่างๆ 

สิ่งสำคัญที่โทนีค้นพบจากผู้เชี่ยวชาญที่เขาได้สัมภาษณ์คือ ความสามารถของนวัตกรที่ประสบความสำเร็จไม่ได้ดำรงอยู่ในเด็กทุกคนตั้งแต่เกิด แต่เกิดจากการสร้างสภาพแวดล้อมและโอกาสที่เหมาะสมซึ่งสามารถเพิ่มขีดความสามารถเรื่องความคิดสร้างสรรค์และความสามารถเชิงนวัตกรรมของเด็กได้

การจะสร้างนวัตกรที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนโลกอนาคตของเรา จึงต้องเริ่มต้นจากการปลูกฝังความคิดริเริ่ม ความสงสัยใคร่รู้ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นตั้งแต่เด็ก รวมทั้งความสามารถในการคิดวิเคราะห์ควบคู่กับอุปนิสัยจำเป็นอื่นๆ เช่น ความไม่ย่อท้อ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และคุณธรรมประจำใจ ซึ่งเป็น Parent-Made ที่สร้างได้อย่างแน่นอนผ่านการปล่อยให้เด็กได้ เล่นแบบอิสระ เพื่อให้เขาได้สำรวจ ทดลอง และค้นพบความสนใจของตัวเอง 

โจทย์สำคัญของผู้ปกครอง ไม่ใช่การตีกรอบให้เด็กมุ่งไปสู่เป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง แต่เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดกระบวนการหาคำตอบของตัวเด็กเองว่ามีความสนใจในอะไร เมื่อพบความสนใจแล้ว สิ่งนั้นอาจเปลี่ยนเป็นแรงจูงจากความสนใจที่เกิดจากภายในวัยเด็ก ต่อมาอาจเปลี่ยนเป็นความ หลงใหล ในวัยรุ่น และกลายเป็น เป้าหมาย ในวัยผู้ใหญ่

เราไม่ได้อาศัยอยู่ในโลกนี้เพียงลำพัง แม้จะอยู่ในสังคมที่เล็กจิ๋วมากๆ ก็ตาม อย่างไรเสียพื้นที่นั้นก็ต้องประกอบไปด้วยผู้คน กฎของการอยู่ร่วมกัน และการแสดงออกของปัจเจกที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในพื้นที่นั้น วัฒนธรรมพื้นฐาน จึงเป็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถของคนรุ่นใหม่ให้เป็นนวัตกร 

การทำงานเป็นทีม การแก้ปัญหาข้ามสาขาวิชา แรงขับจากภายใน (ที่ได้จากการเล่นแผลงๆ) และการเสริมพลังจากคนรอบตัว มีพลังในการสร้างความมั่นใจให้เด็กกล้ารับความเสี่ยง และกล้าลองอะไรก็ตามที่ตัวเองสนใจ และส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อเด็กให้เกิดความถนัดและทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ รวมไปถึงช่วยพัฒนาแรงจูงใจและเป้าหมายที่เอาจริงเอาจังมากขึ้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่อีกด้วย

แต่แน่นอนว่าวัฒนธรรมพื้นฐานนี้เกิดขึ้นได้ยากในโลกปัจจุบัน และหลายครั้งที่พฤติกรรมของผู้ใหญ่ในสังคมกดความสงสัยใคร่รู้ ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการของเด็กไว้ เช่น เมื่อเด็กทำตัวแปลกและแตกต่างจากกฎทางสังคม เด็กมักจะถูกล้อเลียนกับความคิดที่แปลกและแตกต่าง และอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดหรือตลกขบขัน เพราะบางครั้งผู้ใหญ่หลายคนมีความเชื่อว่าการแสดงพฤติกรรมเหล่านั้นจะทำให้เด็กไม่ต้องเสียเวลากับความคิดที่ ‘ไม่ได้เรื่อง’ โดยไม่คำนึงถึงผลดีเรื่องการสร้างลักษณะนิสัยของการมีความคิดสร้างสรรค์ในตัวเด็กเลย ซึ่งท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มที่จะเสียเท่าไหร่นัก 

สังคมแวดล้อมที่สอนให้เด็กมีความเชื่อมั่นในตัวเขา ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง กล้าที่จะเสี่ยงที่จะล้ม และยอมรับว่าความล้มเหลวสามารถเกิดขึ้นได้อย่างจริงใจ รวมไปถึงการสอนให้เด็กมีความเพียรพยายามและความตั้งมั่นต่อเป้าหมายของตนต่อไป สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญต่อการพัฒนานวัตกร ในส่วนของเด็กที่ด้อยโอกาสกว่า ที่ปรึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบ่มเพาะความหลงใหลและเป้าหมายของเด็ก 

คู่มือสร้างนักนวัตกรรมเปลี่ยนโลก หนังสือที่ชวนออกแบบสภาพแวดล้อมที่สำคัญกับนวัตกร

แล้วโรงเรียนจะช่วยเสริมสร้างทักษะนวัตกรของเด็กได้อย่างไรบ้าง?

สิ่งที่โทนีวิเคราะห์จากปัจจัยที่เป็นไปได้ในการบ่มเพาะเด็กที่ใช้ชีวิตมีมากมาย แต่ความท้าทายคือ แม้แต่การปฏิรูปการศึกษาจากฟินแลนด์ ซึ่งถือเป็นสถาบันนำร่อง ก็อาจจะยังไม่เพียงพอต่อการสร้างนวัตกรชั้นยอด ระบบการบรรจุอาจารย์ประจำ หรืออำนาจเชิงสถาบันที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงการศึกษายังเป็นอุปสรรคสำคัญในการหล่อหลอมเด็ก

การสอนเรื่องเศรษฐกิจเสรี (Free Economy) ในโรงเรียน หรือกระบวนการคิดของเรื่องนี้ก็ยังเป็นจุดท้าทายสำคัญ เพราะเด็กควรจะได้เรียนรู้ที่มาของความมั่งคั่ง และ Know-How ที่สำคัญในการเปลี่ยนความหลงใหลของพวกเขาให้เลี้ยงชีพได้

แม้เส้นทางของรถเราจะพุ่งทะยานไปข้างหน้ามากแล้ว แต่เราต้องวนกลับมาใหม่ ณ จุดที่ครอบครัวต้องใส่ใจเสมอ (และอาจจะเป็นงานโหดหินสำหรับพ่อแม่สักหน่อย) นั่นคือ การปล่อยให้ลูกได้เล่น แขวนคำตัดสินของพ่อแม่เอาไว้ก่อนตราบใดที่ลูกยังไม่ได้ออกนอกขอบเขต เคารพเขา และไม่โบยตีทั้งทางร่างกายและจิตใจ 

“ฉันเห็นปริญญาโทของแวนเดอร์บิลต์ที่ไปเรียนต่อที่บราวน์หรือมหาวิทยาลัยที่ดีอื่นๆ พวกเขาต้องทุ่มเทมากเพื่อให้เข้าเรียนได้ แต่พวกเขาไม่มั่นใจว่าตัวเองต้องการอะไร ฉันตกใจว่ามีคนรุ่นใหม่เยอะมากที่ไม่รู้ว่าตัวเองสนใจอะไร เพราะพวกเขาถูกผลักดันให้ประสบความสำเร็จ แต่ไม่ได้ถูกผลักดันให้สำรวจ ฉันอยากให้ลูกสาวของฉันมีเวลาหายใจ และคิด และใช้จินตนาการให้มากขึ้น แต่ฉันรู้สึกจริงๆ ว่าฉันเป็นคนส่วนน้อยและกำลังว่ายทวนกระแสเมื่อเทียบกับวิธีที่พ่อแม่คนอื่นๆ จัดการชีวิตของลูก”

คริสทีน ซอนเดอร์ส รองศาสตราจารย์งานวิจัยด้านเภสัชวิทยาที่มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ กล่าวไว้ในบทที่ว่าด้วยอนาคตของนวัตกรรม

การจำกัดเวลาหน้าจอ การมีของเล่นน้อยชิ้น ความตั้งใจของครูในการต่อยอดสิ่งที่เด็กถนัด การสังเกตความหลงใหลและผลักดันเด็กไปให้ถูกจุด ไม่โกหกว่าเขาทำได้ดีแล้ว ทั้งๆ ที่ยังทำไม่ได้ เป็นปัจจัยที่สำคัญทั้งหมด แต่ในรายละเอียดการเลี้ยงดูของพ่อแม่ก็ยังแตกต่างกันอยู่ดี เช่น โธมัส ฟรีดแมน นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ก็บอกว่าเขาสนับสนุนลูกทั้งหมดไม่ว่าลูกจะอยากทำอะไร

หนังสือของโทนีให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่น่าสนใจมากมาย แต่ในแง่ของการปรับใช้จริง เราอาจต้องดูบริบทของประเทศถิ่นที่อยู่ ต้นทุนในการเลี้ยงดูของพ่อแม่ สิ่งแวดล้อม เช่น โรงเรียนและบุคลากร ว่ามีข้อจำกัดที่ต้องพลิกแพลงข้อแนะนำเหล่านี้อย่างไรบ้าง 

สิ่งหนึ่งที่สำคัญและไม่ต้องใช้ต้นทุนทางกายภาพมากมายในการสร้างนวัตกร (เมื่อเราค้นพบแล้วว่าชีวิตอยากใส่ใจกับสิ่งใด) คือ อะไรที่มีความหมาย และร้อยด้ายแห่งความผูกพันต่อสิ่งนั้นๆ มนุษย์ก็เริ่มมีความสร้างสรรค์ที่จะดำรงอยู่กับมัน หาทางแก้ปัญหา เปี่ยมหวัง และเห็นคุณค่าของชีวิตท่ามกลางโลกที่มีชีวิตอื่นๆ และชีวิตเหล่านั้นอาจจะต้องการความสามารถของนวัตกรช่วยสร้างความหมายและคุณค่าให้กับชีวิตของพวกเขาเช่นกัน

ท้ายหนังสือเล่มนี้มีข้อความที่จริงเสมอ และดึงให้เรากลับมาสำรวจข้างในจิตใจเข้ากับโลกซึ่งเป็นแหล่งที่มาแห่งความหมายของสังคม 

“ผมรู้ว่าคุณรู้สึกเหงาบ้างบางครั้ง หรืออาจจะบ่อยๆ ด้วยซ้ำ คุณคิดไม่เหมือนคนอื่น คุณมองโลกต่างออกไป คุณเชื่อ พูด และทำสิ่งที่แหวกแนว และคนรอบตัวมักไม่เข้าใจ ความรู้สึกแปลกแยกและความเหงาจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่คุณต้องเชื่อมั่นว่า เมื่อคุณมั่นใจและมีวินัยในการแสวงหาสิ่งที่หลงใหลมากขึ้นแล้ว คุณจะเจอคนอื่นๆ ที่มีความหลงใหล หรือมุมมองเดียวกัน รวมถึงคนที่ให้เกียรติคุณ เพราะคุณกล้าที่จะไม่โอนอ่อนให้สิ่งที่เป็นขนบ เมื่อคุณได้พบคนคอเดียวกัน คุณต้องรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้และสนับสนุนกัน หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้น ตั้งทีมขึ้นมาเลย อย่าหวั่นไหวต่อความคิดที่ล่อลวงว่าคุณสามารถทำสิ่งที่อยากทำได้ลำพังคนเดียว คุณทำไม่ได้หรอก”

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก