แตะเบรก! ชีวิตเมือง พัฒนาย่านใหม่ในออสโล ให้ชีวิตละไมไปกับความช้า

300 views
7 mins
November 29, 2023

          มหาตมะ คานธี ไม่ได้รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับโครงข่ายรถไฟ นวัตกรรมใหม่แกะกล่องจากอังกฤษที่เชื่อมต่อประเทศอินเดียบนรางเหล็ก ในทางกลับกัน เขากลับตั้งคำถามด้วยสายตาแหลมคมว่า

          “การมียานพาหนะที่เร็วขึ้นจะทำให้โลกดีขึ้นตรงไหนหรือ เครื่องมือนี้ช่วยให้มนุษย์ก้าวหน้าทางจิตวิญญาณหรือไม่ ไม่ใช่ว่าสุดท้ายจะเป็นตัวขัดขวางหรอกหรือ”

          แม้ว่าวาทะของมหาตมะ คานธี ดูจะต่อต้านการมาถึงของรถไฟ แต่โครงข่ายม้าเหล็กก็พาเขาเดินทางไปสัมผัสความทุกข์ยากของประชาชนทั่วอินเดีย และนำพามวลชนทั่วสารทิศร่วมเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษ

          นี่คือเหรียญสองด้านของการพัฒนา ความรวดเร็วของโลกสมัยใหม่ที่จะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อเดินหน้าควบคู่ไปกับความรุ่มรวยทางจิตวิญญาณ แต่ปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่และวิถีชีวิตในเมืองใหญ่ที่เร่งร้อนต่างทำให้ความเร่งรีบเป็นเรื่องปกติจนหลายคนหลงลืมไปว่าความช้าก็สามารถสร้างความสุขได้ไม่ต่างกัน

          ที่ออสโล เมืองหลวงของประเทศนอร์เวย์ ศิลปินกลุ่มเล็กๆ รวมตัวกันครุ่นคิดสร้างพื้นที่ศิลปะที่จะให้ชาวเมืองมาใช้ชีวิตอย่างเชื่องช้าและสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ใช้ชีวิตละเอียดในพื้นที่สโลว์ไลฟ์ไม่ไกลจากความวุ่นวายในเมืองใหญ่ที่จะช่วยชุบชูจิตใจของเหล่าคนเดินเมือง

          วิถีชีวิตอันเร่งรีบย่อมช่วยเพิ่มผลิตภาพการทำงาน สะท้อนเป็นตัวเลข GDP ของประเทศที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่มนุษย์ปุถุชนย่อมทราบดีว่าความสุขของเราไม่ได้ผูกโยงกับมิติทางเศรษฐกิจเพียงลำพัง เรายังต้องการความสบายจากความไม่รีบเร่ง ความสงบจากการนั่งทอดสายตาไปยังทะเลแสนกว้างใหญ่ หรือความสุขง่ายๆ จากการใช้เวลากับครอบครัวเดินสำรวจผืนป่าเล็กๆ ใกล้บ้าน หรือนั่งคุยกับเพื่อนในร้านกาแฟ

          การหมดเวลาไปกับกิจกรรมเหล่านี้ไม่ค่อยจะมีอยู่ในตำราสู่เส้นทางการเป็นเศรษฐีใหม่ แต่ชีวิตย่อมโหยหาสิ่งอื่นที่นอกเหนือจาก ‘การพัฒนา’ อย่างไม่มีวันหยุดพักผ่อน

วิถีที่ถูกบดบัง ตึกระฟ้าไม่ใช่ไม่ดี แต่อาจทำให้หลงลืมความดีของวัฒนธรรมดั้งเดิม

          แม้ว่าปัจจุบันนอร์เวย์จะขึ้นแท่นประเทศที่ร่ำรวยและคุณภาพชีวิตสูงลิ่วติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่หากย้อนกลับไปเมื่อราวห้าทศวรรษก่อน นอร์เวย์เป็นเพียงประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางในภูมิภาคยุโรปที่มีรายได้หลักมาจากภาคการเกษตรและการประมง

          จุดพลิกผันสำคัญของนอร์เวย์คือการค้นพบแหล่งน้ำมันในทะเลเหนือ (North Sea) ที่พลิกโฉมประเทศสู่การเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ เม็ดเงินมหาศาลจึงถูกทุ่มลงทุนเร่งการพัฒนาเมืองหลวงอย่างออสโลจนได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคยุโรป

          “เมืองแห่งนี้ไม่ได้โด่งดังแค่เรื่องปลาแซลมอนและน้ำมัน เรากำลังก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจทางสถาปัตยกรรม เป็นจุดศูนย์กลางด้านวัฒนธรรมและธุรกิจ ใครที่เคยมาเยือนออสโลเมื่อ 10 ปีที่แล้วจะต้องตื่นตะลึงเมื่อกลับมาเยือนอีกครั้งในวันนี้” เพตเตอร์ สตอร์ดาเลน (Petter Stordalen) มหาเศรษฐีชาวนอร์เวย์ให้สัมภาษณ์กับบีบีซี

          อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็วกลับกลายเป็นประเด็นที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางที่สุดในรอบหลายศตวรรษ เช่น โครงการสร้างกลุ่มตึกระฟ้าริมน้ำที่ชื่อว่าโครงการบาร์โค้ด (Barcode) ที่จากการสำรวจความคิดเห็นของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในนอร์เวย์พบว่ากว่า 71% ต่างไม่เห็นด้วย

          “เรามีตึกระฟ้าผุดขึ้นมากมายในออสโล หลายแห่งโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ แต่เหล่านักออกแบบอาจไม่ได้คำนึงถึงว่าตึกเหล่านี้จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเหล่าผู้อยู่อาศัยทั่วไปในเมืองแห่งนี้ได้อย่างไร” 

          ลาร์ส รูเดอ (Lars Roede) นักประวัติศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรมและอดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เมืองออสโลกล่าว “คุณอาจคิดว่าการมีสตางค์จะทำให้คนเราฉลาดขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าเราใช้เงินก้อนนั้นลงทุนทำลายภูมิทัศน์อันเป็นที่รักของชาวเมือง” เขายังเสริมอีกว่าการทำเช่นนี้ อาจเสี่ยงที่จะทำลายอัตลักษณ์ของชาวนอร์ดิก

          คำกล่าวของเขาไม่เกินจริงนัก เพราะเมืองออสโลดั้งเดิมคือเมืองพื้นราบที่อุดมด้วยพื้นที่สีเขียว หากขึ้นไปยังภูเขาชานเมืองแล้วมองลงมา เราจะสามารถมองเห็นภูมิทัศน์เมืองที่แสนงดงามริมอ่าวออสโล แต่โครงการบาร์โค้ดกลับสร้างตึกระฟ้าที่บดบังทัศนียภาพดังกล่าว เปลี่ยนภูมิทัศน์ที่คุ้นเคยของชาวเมืองจากหน้ามือเป็นหลังมือ

          สูตรสำเร็จในการสร้างตึกระฟ้าอย่างโครงการบาร์โค้ดสามารถพบเจอได้ทั่วไปในเมืองใหญ่ทั่วโลก ตึกระฟ้าเหล่านี้จะมีห้องพักหรูราคาแพงระยับอยู่ด้านบน ส่วนที่เหลือจะถูกใช้เป็นสำนักงานและห้างสรรพสินค้า แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปคือพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคน นี่คือวิถีการพัฒนาเมืองที่ไร้วิสัยทัศน์ สูตรสำเร็จที่ดูเผินๆ แล้วโก้หรูแต่กลับสร้างรูโหว่ในหัวใจของผู้อยู่อาศัย ที่สำคัญคือโครงการตึกระฟ้าดังกล่าวไม่ได้มาช่วยแก้ปัญหาที่เมืองใหญ่ทั่วโลกต้องเผชิญ นั่นคือที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ ค่าครองชีพสูง รวมทั้งพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวที่หดหาย

          หากออสโลยังเดินบนเส้นทางนี้ต่อไป สุดท้ายคงกลายสภาพไม่ต่างจากเมืองใหญ่ที่ซุกซ่อนความเสื่อมโทรมไว้เบื้องหลังโฉมหน้าของการพัฒนา

แตะเบรก! ชีวิตเมือง สร้างสรรค์พื้นที่ใหม่ให้ละเมียดละไมกับการใช้ชีวิตแบบช้าๆ
กลุ่มอาคาร Barcode Project
Photo: Christoffer Engström on Unsplash

หลักการของ ‘ความช้า’ ที่รอไม่ได้

          ออสโลที่พัฒนาอย่างรวดเร็วสร้างความกังวลใจต่อทีมงานภัณฑารักษ์ว่าชาวนอร์เวย์จะรับมือกับความแปลกใหม่ที่แทรกซึมเข้าสู่วิถีชีวิตดั้งเดิมอย่างไร พวกเขาจึงจับมือกับศิลปินและอาสาสมัครเพื่อร่วมกันสร้างงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะบริเวณบยอร์วิกา (Bjørvika) อดีตท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่กำลังดำเนินโครงการพลิกโฉมพื้นที่ให้เป็นย่านวัฒนธรรมริมน้ำของเมืองออสโลที่หากมองไปทางอีกฝั่งน้ำผู้มาเยือนก็จะเห็นตึกระฟ้าของโครงการบาร์โค้ดถนัดตา 

          เป้าหมายของการพัฒนาพื้นที่บยอร์วิกา คือการเป็นแหล่งท่องเที่ยวของนักเดินทางจากนานาประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพร้อมต้อนรับชาวเมืองออสโลให้มาใช้พื้นที่ริมน้ำแห่งนี้ ด้วยสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ พร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับทุกความต้องการและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เหล่าภัณฑารักษ์และศิลปินแห่งเมืองออสโลจึงเติมแต่งพื้นที่แห่งนี้ด้วยศิลปะสาธารณะตามแนวคิด ‘พื้นที่ให้ช้า’ (Slow Space)

          แต่ ‘ศิลปะในพื้นที่สาธารณะ’ ที่ว่านี้คืออะไร?

          แอน บีต โฮวินด์ (Anne Beate Hovind) ภัณฑารักษ์ที่เป็นหัวเรือใหญ่ของโครงการและผู้จัดสรรงบประมาณด้านศิลปะของบริษัท Bjørvika Infrastruktur มองว่า เมืองในตอนนี้มีศิลปะไม่ต่างจากไม้ประดับ ผลงานมากมายใช้ถมความว่างเปล่าของพื้นที่แต่กลับไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเหล่าคนเมือง “อาจมีสักคนที่บอกว่าเอาศิลปะมาตกแต่งตรงนี้สิ ทางที่ง่ายที่สุดก็ไปซื้อผลงานศิลปะมาวางไว้” โฮวินด์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวควอตซ์ แต่เธอก็ย้ำว่าเมืองแห่งนี้มีประติมากรรมมากเกินพอแล้ว

          ผลงานที่เธอประทับใจคืออาคารโอเปราเฮาส์ซึ่งตั้งอยู่ในย่านท่าเรือบยอร์วิกาออกแบบโดย Snøhetta บริษัทสถาปัตยกรรมสัญชาตินอร์เวย์ที่หากมองไกลๆ ก็คล้ายกับแผ่นน้ำแข็งขาวสะอาดตั้งอยู่ริมอ่าว ความโดดเด่นของอาคารหลังนี้คือเราสามารถเดินหรือปั่นจักรยานขึ้นไปใช้พื้นที่บนหลังคาได้ เสมือนหนึ่งว่าอาคารหลังนี้คือภูเขาน้ำแข็งใจกลางเมือง พวกเขาอาจกระโดดลงจากดาดฟ้าลงสู่ทะเลกว้าง หรือนอนอาบแสงแดดอุ่นในฤดูร้อน

แตะเบรก! ชีวิตเมือง สร้างสรรค์พื้นที่ใหม่ให้ละเมียดละไมกับการใช้ชีวิตแบบช้าๆ
อาคารโอเปราเฮาส์ แห่งเมืองออสโล
Photo: Tommaso Curre on Unsplash
แตะเบรก! ชีวิตเมือง สร้างสรรค์พื้นที่ใหม่ให้ละเมียดละไมกับการใช้ชีวิตแบบช้าๆ
ด้านบนของอาคารที่เราสามารถเดินขึ้นไปใช้พื้นที่ได้
Photo: Arvid Malde on Unsplash

          กระนั้น โฮวินด์ก็ไม่ได้อยากผูกขาดนิยามของพื้นที่ให้ช้าและงานศิลปะสาธารณะเพียงลำพัง เธอจึงร่วมจัดงานวันเชื่องช้า (Slow Days) อีเวนต์ต่อเนื่อง 4 วันที่เมืองออสโลโดยเชิญชวนภัณฑารักษ์และศิลปินที่สนใจมาเข้าร่วม ภายใต้การสนับสนุนของ Situations องค์กรศิลปะจากสหราชอาณาจักร การอภิปรายตลอด 4 วันตกผลึกเป็นพื้นที่ให้ช้า: วิสัยทัศน์ภัณฑารักษ์ต่อท่าเรือแห่งออสโล

          เหล่านักสร้างสรรค์สรุปหลัก 5 ประการเพื่อสร้างพื้นที่ให้ช้า คือ Samling, Dugnad, Pavillon, Vekst และ Eng ทั้ง 5 คำเป็นภาษานอร์เวย์ที่แปลเป็นไทยได้ประมาณว่า การรวมกลุ่ม สวนส่วนรวม พื้นที่พบปะ ความค่อยเป็นค่อยไป และหย่อมป่า

          หลักการเรื่อง Samling (การรวมกลุ่ม) คือการจัดกิจกรรมที่เชิญชวนเหล่าคนเมืองที่เคยแต่เดินสวนทางกันมาพบปะพูดคุย สร้างสายสัมพันธ์ที่ขาดแคลนในเมืองใหญ่ กิจกรรมลักษณะนี้เริ่มได้รับความนิยมอย่างมากทั่วโลกและโดยทั่วไปมักจะเป็นกิจกรรมไม่แสวงหากำไร อาทิ The Big Lunch กิจกรรมที่จัดขึ้นทั่วสหราชอาณาจักรที่เชิญชวนคนเมืองมารับประทานอาหารร่วมกัน หรือ Breakfast on the Bridge ที่เปิดโอกาสให้ชาวออสซีรับประทานอาหารบนฮาเบอร์บริดจ์ใจกลางซิดนีย์

          หลักการที่ต่อยอดจาก Samling คือ Dugnad (สวนส่วนรวม) ที่แปลงพื้นที่บางส่วนในเมืองให้กลายเป็นสวนผักที่ชาวเมืองมีส่วนร่วมในการดูแล ตัวอย่างเช่น Victory Gardens ซึ่งใช้พื้นที่หน้าศาลากลางเมืองซานฟรานซิสโกในการปลูกพืชอาหาร นี่คือโครงการนำร่องที่มุ่งสู่การแปลงพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในเมืองให้เป็นพื้นที่ผลิตอาหาร หัวใจของ Dugnad คือความร่วมมือกันของทุกคน ไม่ใช่แต่ละคนต่างรับผิดชอบคนละพื้นที่

          หลักประการที่สามคือ Pavillon (พื้นที่พบปะ) ที่ศิลปินจะใช้งานศิลปะสร้าง ‘พื้นที่’ พิเศษให้คนเมืองทำกิจกรรมร่วมกัน ผลงานที่โดดเด่นอาทิ The KÜCHENMONUMENT (kitchen monument) ที่ใช้วัสดุพิเศษซึ่งโปร่งใสและยืดหยุ่นในการเนรมิตพื้นที่ใหม่ซ้อนทับในพื้นที่เดิม โดยเราสามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อเป็นลานกิจกรรมทั้งรับประทานอาหาร เล่นดนตรี เต้นรำ หรือแม้กระทั่งสนามมวย

          Vekst (ความค่อยเป็นค่อยไป) นับเป็นหลักที่ค่อนข้างแตกต่างจาก Samling หรือ Pavillon เพราะ Vekst คือศิลปะของความช้าที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ตัวอย่างเช่นผลงาน Seizure ที่เปลี่ยนห้องพักในตึกร้างที่กำลังจะถูกรื้อถอนให้เป็นผลงานศิลปะด้วยสารละลายคอปเปอร์ซัลเฟต 75,000 ลิตร โดยศิลปินปล่อยให้สารละลายดังกล่าวตกผลึกอย่างช้าๆ และแปลงห้องดังกล่าวให้เป็นราวกับถ้ำคริสตัลสีฟ้าที่ชวนพิศวง

          หลักประการสุดท้ายคือ Eng (พื้นที่ธรรมชาติ) แม้หากมองโดยผิวเผิน Eng จะค่อนข้างคล้ายคลึงกับ Dugnad เพราะเป็นการปลูกพืชในพื้นที่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม การปลูกพืชตามหลักการของ Eng นั้นมีเป้าหมายที่ต่างออกไป เพราะนี่ไม่ใช่การปลูกเพื่อทานเป็นอาหารหรือสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน แต่เป็นการส่งสารอันทรงพลังถึงความมั่นคงและศักยภาพในการเติบโตของธรรมชาติ ตัวอย่างผลงานก็เช่นการแปลงพื้นที่รกร้างให้เป็นทุ่งข้าวสาลี (Wheatfield – A Confrontation)

          เมื่อตกผลึกเป็นหลักการอย่างแจ่มชัด ก้าวต่อไปของเหล่าศิลปินคือการปรับแนวคิดนามธรรมเหล่านี้ให้เป็นศิลปะในพื้นที่สาธารณะแห่งย่านท่าเรือของเมืองออสโล

พื้นที่ให้ช้าทำได้ไม่เร็ว แต่หวังให้ทำได้จริงผ่านโปรเจกต์ศิลปะ

          สิทธิในเมืองเป็นเรื่องที่ครอบคลุมมากกว่าสิทธิของปัจเจกในการเข้าถึงทรัพยากรมันคือสิทธิในการเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการเปลี่ยนแปลงเมืองนี่คือสิทธิของส่วนรวมมากกว่าเป็นสิทธิของปัจเจกเนื่องจากการพลิกโฉมหน้าของเมืองจะเกิดขึ้นได้ก็จากการรวมพลังเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการพัฒนาเมืองเสรีภาพในการสร้างและปรับปรุงเมืองของพวกเราและตัวของเราเองคือสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่งแต่มักถูกละเลยในฐานะสิทธิมนุษยชน เดวิด ฮาร์วีย์ (David Harvey), The Right to the City (2008)

          การสร้างพื้นที่ให้ช้าเริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก Bjørvika Infrastruktur บริษัทที่รับผิดชอบปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของเมืองออสโลโดยจะมีการปันส่วนเงินลงทุน 1%เพื่อใช้สร้างผลงานศิลปะสาธารณะ

          หลักการที่เล่ามาเปรียบเสมือนโรดแมปของการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผังเมือง เป้าหมายคือภายในปี 2025 บยอร์วิกาและสิ่งแวดล้อมโดยรอบจะไม่เป็นเพียงพื้นที่เปี่ยมศิลปะที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน แต่ตัวศิลปินเองก็จะได้มีส่วนร่วมในการเป็นผู้ปรับปรุงเมืองบยอร์วิกา ให้กลายเป็นพื้นที่สุดพิเศษท่ามกลางการเติบโตของโลกที่ช้าไม่ค่อยเป็น

          งานศิลปะชิ้นแรกที่สร้างความฮือฮาในวงกว้างคือ Future Library โดยศิลปินชาวสกอตแลนด์ เคธี แพตเทอร์สัน (Katie Paterson) เธอได้เปลี่ยนข้อความที่ในสมุดบันทึกว่า “ผืนป่าของหนังสือที่ยังไม่มีใครได้อ่าน แต่ต้องรอเวลาให้เติบโตยาวนานนับศตวรรษ” ให้เป็นความจริง เพราะห้องสมุดแห่งอนาคตที่ว่านี้ยังไม่มีหนังสือ แต่เป็นป่าผืนใหญ่ที่อยู่รายล้อมเมืองออสโลและคาดว่าในปี 2114 จะถูกตัดมาทำกระดาษเพื่อใช้ผลิตหนังสือ

          มาร์กาเร็ต แอ็ตวูด (Margaret Atwood) คือนักเขียนคนแรกที่ร่วมโครงการนี้ เมื่อแปดปีก่อน เธอเคยมาเยือนผืนป่าในวันแรกที่เปิดตัวโครงการและส่งมอบต้นฉบับที่จะตีพิมพ์บนกระดาษที่กำลังงอกงาม ปัจจุบันต้นฉบับ Scribbler Moon ได้รับการเก็บรักษาไว้ในห้องสมุดไดค์มัน บยอร์วิกา โดยที่สภาเมืองออสโลลงนามว่าจะคอยดูแลรักษาและสนับสนุนโครงการนี้จนต้นไม้เติบโตพอที่จะรองรับตัวอักษรของเหล่านักเขียนชื่อดังที่ทยอยส่งต้นฉบับเข้าร่วมโครงการทุกๆ ปี

          โครงการ Future Library สะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงหลักการพื้นที่ให้ช้า เพราะนอกจากพื้นที่ป่าจะสร้างพื้นที่สำหรับพบปะสังสรรค์ (Pavillon) ทุกๆ ปียังมีกิจกรรมที่เชิญชวนสาธารณชนมาเดินชมผืนป่าร่วมกับนักเขียนที่มาส่งมอบต้นฉบับ (Samling) พวกเขายังได้เห็นพลังการเติบโตของพื้นที่ธรรมชาติ (Eng) และเห็นคุณค่าของกระดาษที่กำลังเติบโตอย่างแช่มช้าพร้อมรองรับผลงานศิลปะ (Vekst)

แตะเบรก! ชีวิตเมือง สร้างสรรค์พื้นที่ใหม่ให้ละเมียดละไมกับการใช้ชีวิตแบบช้าๆ
พิธีการส่งมอบต้นฉบับ
Photo: Kristin von Hirsch

แตะเบรก! ชีวิตเมือง สร้างสรรค์พื้นที่ใหม่ให้ละเมียดละไมกับการใช้ชีวิตแบบช้าๆ
ห้องแห่งความเงียบ (Silent Room) ในห้องสมุด Deichman Bjørvika สถานที่จัดเก็บต้นฉบับของเหล่านักเขียนสำหรับ Future Library
Photo: Future Library

พิธีการส่งมอบและการเก็บต้นฉบับในโครงการ Future Library

          ส่วนโครงการต่อมาสะท้อนหลักการ Dugnad โดยแปลงพื้นที่ว่างเปล่าในเมืองออสโลให้เป็นแปลงพืชผักที่ชาวเมืองมีส่วนร่วม เพราะหลักการของการเป็น slow space นั้นคือเรื่องของการเข้าใจวิถีการบริโภคที่ช้าด้วย

          ในด้านความยั่งยืน slow space ส่งเสริมความเป็นเกษตรในเมือง โดยส่งเสริมให้คนปลูกพืชผักตามพื้นที่ จัดตั้งกลุ่มศิลปินที่เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ ทำเกษตรกรรม อบรมการทำขนมปัง ดึงเกษตรกรนอกพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น การรับบริจาคดินออร์แกนิกสำหรับเพาะปลูกในเมือง

          นอกจากฟาร์มชุมชนแล้ว ยังมีการก่อสร้างอาคารสาธารณะสำหรับ ‘Flatbread Society’ สมาคมคนรักขนมปังที่เชิญชวนผู้สนใจเข้ามาพบปะพูดคุยและอบขนมปังร่วมกัน พร้อมกับชูแนวคิด ‘Losæter’ ที่เชื่อมโยงพื้นที่สาธารณะและวิถีชาวเกษตรของนอร์เวย์เข้าด้วยกัน ซึ่งสวนทางกับแนวคิดเรื่องการพัฒนาสมัยใหม่ที่ไม่ใส่ใจแง่มุมทางวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ทางสังคม รวมถึงวิถีการเกษตรที่เก็บเกี่ยวความอุดมสมบูรณ์จากผืนดิน

          สมาคมคนรักขนมปังประกอบด้วยสมาชิกหลากหลาย ทั้งเกษตรกร ช่างสร้างเตาอบ นักดาราศาสตร์ ศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ผืนดิน และนักอบขนมปัง พวกเขามีสิ่งหนึ่งร่วมกันคือความหลงใหลในประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่างมนุษย์กับข้าวสาลี

          แต่พวกเขาไม่ได้พบปะกันที่อาคารแห่งนี้เท่านั้น เหล่าสมาชิกยังกระจายตัวเปิดพื้นที่ ‘โรงอบขนมปัง’ เฉพาะกิจตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในพื้นที่ก่อสร้าง ชุมชน แปลงเกษตรอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างพื้นที่พบปะพูดคุย (Pavillon) เติมต่อบทสนทนาสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Samling) ในหัวข้อการพัฒนาอารยธรรมมนุษย์ผ่านความสัมพันธ์กับข้าวสาลีและขนมปัง ไม่ว่าจะเป็นยุ้งฉาง การบัญชี วรรณกรรม และสถาปัตยกรรม โดยปัจจุบันมีการขยายผลต่อยอดสู่งานวิจัยเรื่องที่เกี่ยวข้องอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกษตรกรรายย่อย ไปจนถึงทรัพย์สินทางปัญญาของเมล็ดพันธุ์

          ทั้งสองโครงการเป็นเสี้ยวส่วนหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่ให้ช้าแห่งเมืองออสโล บางโครงการออกแบบให้เข้าถึงง่ายกว่าผืนป่าและแปลงเกษตร เช่น สระว่ายน้ำนอกชายฝั่งที่ทำให้ชาวเมืองเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้อย่างเรียบง่าย สระดังกล่าวเปิดกว้าง 360 องศาเพื่อให้ผู้คนมาร่วมชมวิวนอกชายฝั่ง สร้างพื้นที่พบปะสังสรรค์ (Pavillon) อีกทั้งยังเป็นผลงานศิลปะธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน (Vekst)

          “เราใช้ชีวิตกันเร็วเกินไป อาจต้องช้าลงสักหน่อย ใส่ธรรมชาติเพิ่มเข้าไปสักนิด และมองไปยังอนาคตไกลๆ มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถ้าคุณทำงานพัฒนาเมืองแบบเดินดุ่มเป็นเส้นตรง รับรองเลยว่าคุณจะพลาดหลายสิ่งหลายอย่างที่อยู่ระหว่างทาง” โฮวินด์กล่าวสรุป

          พื้นที่ให้ช้าอนุญาตให้คนเมืองกลับมาใช้ชีวิตอย่างละเมียดละไม เป็นพื้นที่เชิญชวนให้เรามาร่วมกันคิด ใช้ชีวิตในท่วงทำนองที่แช่มช้า นี่คือจังหวะชีวิตที่หลายคนหลงลืมไปเพราะสารพัดสิ่งเร้าในเมืองใหญ่ต่างกระตุ้นให้เราต้องเร็วขึ้นและเร็วขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมาย แต่บางทีความสุขที่แท้จริงอาจเป็นการเดินให้ช้าลง และใส่ใจสิ่งรอบข้างให้มากกว่าเดิม

          คนเราควรมีพื้นที่ที่อนุญาตให้ตัวเองได้ผ่อนคลาย  มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์โดยไม่ต้องเร่งรีบ กินข้าวร่วมกันบ้าง ทำขนมปังร่วมกันบ้าง ให้มีส่วนประกอบของความเป็นชีวิตอยู่ในนั้น แม้ไม่กี่นาทีต่อวันก็เพียงพอแล้ว

          บยอร์วิกาอาจจะเป็นเมืองขนาดเล็กที่มีประชากรราว 50,000 คน ซึ่งเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของจำนวนประชากรของออสโลที่มีถึง 634,293 คน แต่นี่คือตัวอย่างของการนำแนวคิดเชิงศิลปะสาธารณะไปฟื้นฟูพื้นที่ สร้างสรรค์ในเชิง movement ว่าพื้นที่หนึ่งสามารถได้รับการพัฒนายกเครื่องได้ แต่ต้องอาศัยการร่วมมือจากหลายภาคส่วน งบประมาณ การขับเคลื่อนเชิงนโยบายของผังเมือง

          และที่สำคัญที่สุดคือความคิดความเชื่อของผู้คน


ที่มา

บทความ “Oslo’s rapid growth redefines Nordic identity” จาก bbc.com (Online)

บทความ “Slow Days research event, Oslo” จาก situations.org.uk (Online)

บทความ “Oslo, the controversial barcode project” จาก situations.org.uk (Online)

บทความ “Slow Space: A curatorial vision for Oslo” จาก situations.org.uk (Online)

บทความ “Katie Paterson – interview: ‘It’s a living project, changing and surprising us’” จาก studiointernational.com (Online)

บทความ “Oslo is being rebuilt around something city-dwellers don’t know they’ve lost: “slow space”” จาก qz.com (Online)

บทความ “Flatbread Society– Futurefarmers” จาก visibleproject.org (Online)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก