เบาใจ แฟมิลี่: ออกแบบการตาย ออกแบบชีวิต

382 views
16 mins
February 7, 2024

          แม่ทัพมักซิมุสในภาพยนตร์เรื่อง Gladiator พูดไว้ว่า ความตายยิ้มเยาะมนุษย์ทุกคน มนุษย์ทำได้เพียงแค่ยิ้มตอบเท่านั้น ความตายเป็นปริศนาชั่วนิรันดร์ของมนุษย์ ในทุกวัฒนธรรมมีพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายเสมือนว่ามันคือการเปลี่ยนผ่านชนิดหนึ่งของชีวิต

          ความตายไม่อนุญาตให้เราถามว่า ‘หรือไม่?’ มันแค่ยอมให้เราถามว่า ‘เมื่อไหร่?’ แต่ท้ายที่สุดคำถามนี้ก็ตอบไม่ได้อยู่ดี ความตายเป็นสิ่งที่ออกแบบไม่ได้ ทว่า ‘การตาย’ เป็นสิ่งที่เราพอจะออกแบบได้

          กอเตย – ปิญชาดา ผ่องนพคุณ, โจ๋ – ชนาพร เหลืองระฆัง และ แชมป์ – ชนาวุฒิ ปัญญาวัฒนากุล จากเบาใจ แฟมิลี่ นักออกแบบการตายที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้คนกว่า 200 เคสเพื่อออกแบบการตายดีของตนเอง เราจะไม่เฉลยตรงนี้ว่าการออกแบบการตายดีเป็นอย่างไร สิ่งที่อยากบอกคือเพราะชีวิตและความตายเป็นสองด้านของเหรียญ การออกแบบการตายนัยหนึ่งจึงเป็นการออกแบบการมีชีวิตไปโดยปริยาย

          อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มจะดีขึ้น แต่การตายก็ยังเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมไทย มันจึงยากที่ครอบครัวจะสื่อสารกันเพื่อให้วาระสุดท้าย ทั้งผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทักษะชีวิตในการรับมือกับอารมณ์ลบหรือการสูญเสียถูกละเลย และโครงสร้าง-นโยบายที่ดำรงอยู่ก็ไม่เอื้อหนทางไปสู่การตายดีของเรา

          คุณพร้อมที่จะออกแบบการตายดีในแบบของตัวเองหรือยัง?

เบาใจ แฟมิลี่: ออกแบบการตาย ออกแบบชีวิต

“ปัญหาทางปรัชญาที่สำคัญจริง ๆ มีเพียงประการเดียว นั่นคือ การฆ่าตัวตาย การตัดสินว่าชีวิตมีค่าพอหรือไม่มีค่าพอที่จะอยู่นั้น คือการตอบคำถามพื้นฐานทางปรัชญา” นี่เป็นประโยคแรกจากหนังสือ ‘เทพตำนานซีซิฟ’ ของ อัลแบรฺต์ กามูส์  ชีวิตมีค่าพอที่จะอยู่มั้ย?

          กอเตย: ถ้าประเด็นนี้ไม่ได้อยากตอบในมุมของคนที่ออกแบบการตาย แต่อยากตอบในมุมที่เคยคิดว่าชีวิตตัวเองไม่มีค่า เราเคยผ่านช่วงที่ยากมาก่อน ก่อนที่จะมารู้จักความตายจริง ๆ เป็นเด็กที่เกิดมาด้วยคำถามว่าเราเกิดมาทำไม อะไรคือความหมายของชีวิต เป็นคนคิดเรื่องนี้มาตลอด จนวันหนึ่งเรารู้สึกว่าการอยู่หรือไม่อยู่ของเราก็ไม่ได้เกิดอะไร เพราะฉะนั้นการไม่อยู่จะดีกว่ามั้ย ซึ่งก็มีแวบหนึ่งที่คิดว่าชีวิตไม่น่าจะมีคุณค่าอะไรต่อการอยู่ มันมีระยะที่อยากจะไป ณ ตอนนั้น

          แต่สุดท้ายมันไปไม่ได้ตรงมานั่งคิดว่าถ้าตายบนชั้น 2 ใครจะแบกศพลงไปวะ คิดอย่างนี้จริงๆ ไม่ได้ติดฮา แต่เราอ้วนมาก พอมันมีความคิดนี้ขึ้นมา หรือว่าจะไปตายที่อื่น แต่พอมันมีความคิดที่ไม่ได้ตัดสินใจเลยทันทีก็เลยมีโอกาสได้กลับมาคิดว่ากูไม่อยากอยู่เพราะอะไร

          สุดท้ายมันคือการที่เรารู้สึกว่าครอบครัว คนรอบข้างไม่รักเรา ก็เลยเห็นว่าที่คุณค่าเราขาดหายไปเพราะเราแคร์คนรอบตัวเรามาก สำหรับเรา เรามองว่าชีวิตมีค่าพอที่จะอยู่ต่อไปมั้ย มันขึ้นกับปัจเจกมากเลย เราไม่มีทางบอกได้เลยว่าทุกคนมีค่าพอที่จะอยู่ เราไม่มีทางรู้ว่าคนนี้เขาให้คุณค่ากับอะไร แต่สิ่งที่เราจะบอกเขาได้คือคุณมีคุณค่า แต่คุณต้องหา คุณจะใช้เวลาเพื่อหามั้ยล่ะ

          แต่ถ้าคุณจะไม่โอเคกับการหาแล้ว หรือหาจนไม่เจอแล้ว และคุณเลือกที่จะไป เราโอเค เพราะเราผ่านจุดนั้นมา และเราเคารพในทุก ๆ ชีวิตมาก แต่จุดนั้นที่เราคิดว่าใครจะแบกศพกูลงมามันทำให้เราคิดขึ้นมาได้ว่าหาดูอีกสักหน่อยมั้ยว่ามันมีอะไรที่เป็นคุณค่าหรือสิ่งที่เราจะทำได้ ซึ่งจุดนั้นคุณค่าไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ full นะ แต่คุณค่าในช่วงเวลานั้นคือปัญหาของครอบครัวที่ต้องแก้ไข ครอบครัวเราไม่ได้สมบูรณ์ ไม่ใช่เรื่องความสัมพันธ์ แต่เป็นปัญหาการเงิน หนี้สิน มันเหมือนอันนี้แหละคงเป็นสิ่งที่ต้องทำให้เรียบร้อยก่อน ถ้าเสร็จเรียบร้อยเดี๋ยวจะไป จะไม่หนีมัน แต่พอได้เริ่มแก้ปัญหาก็เริ่มรู้สึกว่าชีวิตก็มีคุณค่าเหมือนกันที่จะตอบได้ว่าฉันต้องอยู่เพื่อทำสิ่งนี้ มิชชันตอนนั้นคือการพาครอบครัวก้าวข้ามปัญหาบางอย่าง พอผ่านจุดที่เป็นเสี้ยวนาทีชีวิตมันก็เลยรู้สึกว่าฉันเจอแล้ว ฉันจะอยู่เพื่อคนที่ฉันรักไม่ว่าเขาจะรักฉันหรือไม่ก็ตาม นี่คือความรู้สึก ณ ตรงนั้น ชีวิตไม่ได้ไม่มีค่า แต่เราน่าจะหลงลืมมันในช่วงเวลาหนึ่งมากกว่า

          แชมป์: สำหรับผมก็อย่างที่พี่กอเตยบอก มันบอกไม่ได้หรอกว่ามีค่า ไม่มีค่า แต่ถ้าเราไม่เห็นค่าในตัวเรา มันก็ต้องหา ถ้าหาไม่เจอก็สร้างมันขึ้นมา เราก็ผ่านคำถามกับชีวิตเหมือนกันว่า เฮ้ย เกิดมาทำไมวะ แล้วเราเกิดมาเพื่ออะไร เกิดมาเพื่อทำอะไร มันเป็นกระบวนการที่เรากำลังจะหาความหมายของชีวิต ความหมายของการมีอยู่ ความหมายของตัวเอง คุณค่าของเราเอง ผมรู้สึกว่าการทำเพื่อคนอื่นคือคุณค่า ตอนแรกเราคงจะไม่รู้หรอกครับว่าเราทำแล้วตัวเราจะมีคุณค่าอะไร แต่เราก็ทำคุณค่าให้แก่คนอื่น สุดท้ายคุณค่าที่เราทำให้กับคนอื่นมันก็กลับมาทำให้เราเห็นคุณค่า คือการที่เราได้ตาม ค้นหา และสร้างมันขึ้นมา แล้วมันก็เป็นความหมายว่าเราจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร

          โจ๋: สำหรับตัวเองก็เห็นด้วยนะ เราตอบแทนใครไม่ได้ว่าเขามีคุณค่ามั้ย สำหรับตัวเราเอง เราหาเป้าหมาย แต่ตอบในมุมของคนที่ตั้งแต่เด็กไม่เคยมีเป้าหมายอะไรในชีวิตเลย ไม่รู้ว่าโตมาทำไม เพราะก็ทำตามชีวิตที่เขาคิดว่ามันควรจะเป็น ต้องเรียนหนังสืออะไรก็ได้ ขอให้จบ เราก็มองว่าเราตายก็ได้ แต่ไม่ได้อยากตายนะ แค่มองว่าชีวิตมันก็ไม่มีอะไร ตายก็ได้ พอเราโตขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง เราก็มองว่าเรามีศักยภาพ เพียงแต่ในตอนที่เราควรจะเรียนรู้ เราไม่ได้เรียนรู้มันมากเท่าที่เราควรจะเป็น พอเราได้เรียนรู้ เราก็รู้สึกว่าตายก็ได้เหมือนกัน แต่มันคนละความหมายแล้ว เหมือนกับว่าการที่เรามีชีวิตอยู่อย่างนี้มันมีคุณค่าในทุก ๆ วันแล้ว เราจะตายก็ได้ แต่เรารู้สึกว่าเติมเต็มและเป็นสุขกับมัน กับตอนก่อนหน้าที่เรายังเป็นเด็กเรารู้สึกว่าตายก็ได้ ไม่เห็นมีอะไรที่มีความหมายเลย เรามองว่าความหมายในการมีชีวิตของคนคนหนึ่งสำหรับเราคือการให้

เบาใจ แฟมิลี่: ออกแบบการตาย ออกแบบชีวิต
โจ๋ – ชนาพร เหลืองระฆัง

การที่เราจะวางแผนกับเรื่องอะไรสักอย่าง ผู้วางแผนน่าจะต้องมีความเข้าใจต่อสิ่งนั้นในระดับหนึ่ง นิยามความตายของเบาใจคืออะไร

          กอเตย: เตยอาจจะตอบนิยามของเบาใจไม่ได้ เพราะวันนี้เบาใจไม่ใช่เตยคนเดียวแล้ว แต่อันหนึ่งที่เตยเชื่อมาเสมอคือเตยไม่อยากให้มีนิยามของความตายเพราะว่าความตายเป็นปัจเจก ทุกคนล้วนมีนิยามการตายหรือความตายของตัวเอง แต่ถ้าจะให้ตอบสำหรับเตย เตยว่าความตายเป็นการเปลี่ยนผ่านบางอย่าง มันจะเป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่มีความงดงามมากสำหรับตัวเตย ไม่ต้องพูดถึงเตรียม ไม่เตรียมด้วยซ้ำนะ แต่เตยเชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านนี้มันงดงามมากเมื่อเราใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ในแบบที่เราอยากทำแล้ว เราเห็นปลายทางความสวยงามที่รออยู่ ซึ่ง ณ วันนี้มันไม่ใช่ความสวยงามที่เราอยากจะไปถึงเร็ว ๆ หรือไปถึงให้ช้าลง แต่เรายินดีที่จะไปถึงในวันที่เราต้องไปถึง และเราเชื่อว่ามันงดงามมากถ้าเราใช้ชีวิตนี้อย่างเติมเต็มมากแล้ว อันนี้เป็นนิยามที่เป็นจุดเริ่มต้นของเบาใจ เพราะเราอยากพาคนไปหาบางสิ่งบางอย่างในชีวิตเพื่อให้เขาไปสู่กระบวนการตายที่งดงามในรูปแบบของเขา

          แชมป์: ผมรู้สึกว่าความตายเหมือนเป็นวันสอบวันสุดท้าย เพราะฉะนั้นก่อนหน้าสอบเราก็ต้องอ่านหนังสือ การใช้ชีวิต ประสบการณ์ที่เราเจอก็คือบทเรียนที่ต้องกลับมาทำงาน ทบทวน เตรียมตัว ไม่ว่าทำงานหาเงินได้มากแค่ไหน สุดท้ายก็ต้องสอบไล่ให้จบ

          โจ๋: เห็นด้วยกับแชมป์ ในมุมมองของคนทั่วไป ทุกคนมีนิยามการตายในแบบของตัวเองที่ควรจะไปในทางที่ดี ตายดี ตายสงบ ตายไม่ทรมาน มีคุณค่า เตรียมพร้อมเต็มที่แล้ว แต่ในรายละเอียดเล็ก ๆ ลึก ๆ ของแต่ละคนก็จะมีรายละเอียดแตกต่างกัน การที่เขาจะไปถึงนิยามของเขามันมีข้อที่ลึกกว่านั้น มีข้อที่เป็นข้างในจิตใจ เรื่องความสัมพันธ์ เรื่องสิ่งค้างคาที่เป็นการบ้านที่เขาจะจัดการให้จบ มันก็จะไปถึงนิยามความตายในแบบของเขา ถ้าถามตัวเอง เราก็อยากที่จะตายโดยที่เราไม่มีความค้างคาใจ ทำทุกอย่างในชีวิตอย่างที่คนรอบข้างจะรู้สึกยินดี ไม่ได้เสียใจที่เราตาย เหมือนกับว่ามันงดงามแล้วสำหรับเรา

สิ่งนี้ถือเป็นนิยามการตายดีของเบาใจหรือเปล่า

          กอเตย: แบบของเบาใจเป็นกระบวนการซึ่งมีอยู่ตามที่พี่โจ๋บอก คือการจะพาไปสู่การตายดีมันมีอยู่ไม่กี่เรื่อง แค่เรามักจะไม่รู้ว่าต้องมีอะไรบ้าง คนเราถ้าสุดท้ายบอกว่ากลัวตาย เตยไม่เชื่อเลยว่าคนกลัวเรื่องความตาย แต่กลัวอะไรระหว่างนั้นมากกว่า เช่น กลัวการพลัดพรากจากคนที่เรารัก กลัวความเจ็บปวดทรมานก่อนตาย กลัวตายไม่ดี ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการติดค้างคาใจบางอย่าง เช่น เรื่องความสัมพันธ์อะไรเหรอที่ทำให้เราไม่สามารถพลัดพรากจากคนที่เรารักได้ มันอาจจะเป็นความสัมพันธ์ที่เรายังทำกับมันได้ไม่ดีพอ กังวลว่าเดี๋ยวพอถึงวันสุดท้ายแล้วเรายังไม่ได้ให้อภัยเขา ไม่ได้ขอโทษเขา ส่วนความเจ็บปวดก็คืออาจเป็นเพราะเรายังรู้วิธีการฝึกทั้งข้างในและข้างนอกไม่มากพอ

          ถ้าของที่พี่โจ๋พูดเมื่อกี้มันมีแก่นของมันอยู่ประมาณนี้ แค่ว่าแต่ละเรื่องราวของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความสัมพันธ์มันอาจจะเป็นเรื่องใหญ่มากเลยที่ทำให้ไม่สามารถไปได้เลย บางคนก็กลัวความเจ็บมาก ถ้าคุณมาช่วยฉัน ยืนยันได้ว่าฉันจะไม่เจ็บแน่นอนหรือมีวิธีการแบบไหน ฉันก็จะเบาใจได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นมันก็คือการทำหนังสือออกมาเล่มหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ไปอ่านจากที่อื่น แต่ต้องเขียนเอง อ่านเอง เตรียมเอง เพื่อที่จะสอบวันสุดท้ายอย่างที่แชมป์ว่า แกนของมันมีแค่นี้

เบาใจ แฟมิลี่: ออกแบบการตาย ออกแบบชีวิต
กอเตย – ปิญชาดา ผ่องนพคุณ

กระบวนการออกแบบการตายของเบาใจเป็นอย่างไร

          แชมป์: มันคือการที่เราได้กลับมาทบทวนตัวเอง ค้นหาคุณค่า ความหมายของชีวิต เราให้คุณค่าอะไรกับชีวิต ความสัมพันธ์ ชื่อเสียง เงินทอง หรืออะไร ถ้าเราได้กลับมาทบทวนและเห็น เราก็จะกลับมาใช้ชีวิตอยู่กับเรื่องนั้น ทำเรื่องนั้นให้สำเร็จจนไปถึงก่อนตาย อันนั้นก็จะมีเรื่องสุขภาพ การยื้อไม่ยื้อ ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เราต้องมาตัดสินใจว่าต้องการอะไร จนสุดท้ายหลังตายเราจะจัดการตัวเองยังไง มันก็จะเป็นกระบวนการเริ่มตั้งแต่เตรียมพร้อมก่อนเราจะเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายถึงวันสุดท้ายของชีวิตว่าจะเป็นยังไง

          กอเตย: เตยอาจจะอ้างอิงถึงที่มาของมันนิดหนึ่ง สิ่งที่เราทำกันอยู่จะเรียกว่า pre-death planning เรียกเราเป็น Death Planner หรืออะไรก็ตามแต่ แต่กระบวนการที่เราทำอยู่คือ ACP หรือ Advance Care Planning คือกระบวนการพูดคุยกับคนคนหนึ่งที่อยู่ตรงหน้าเราหรือเราอาจจะทบทวน ACP ด้วยตัวเราเองก็ได้

          มันคือการทบทวนว่าชีวิตที่ผ่านมาทำอะไรมาบ้าง อะไรคือคุณค่าของคุณเพื่อดูต่อไปว่าแล้วอะไรคือเป้าหมายต่อไปที่คุณจะไปถึง ซึ่ง ACP จะไม่ได้คุยเหมือน Life Reflection หรือทำ Resolution แบบวันปีใหม่คุณจะทำอะไร แต่ ACP คือการคุยกระบวนการทั้งชีวิตของคนคนหนึ่งตั้งแต่ตอนที่เคยอยู่มา อยู่ปัจจุบัน เจ็บป่วย ใกล้ตาย การตาย หลังการเสียชีวิต เพราะฉะนั้นคนที่จะเดินเข้ามาสู่เบาใจ แฟมิลี่จะต้องรู้กระบวนการเหล่านี้เพื่อเขาจะได้ครีเอทว่าสุดท้ายแล้วในวันที่เขาตายหรือหลังการตาย เขาจะต้องทำอะไรบ้าง เพราะทั้งกระบวนการคือการเชื่อมโยงคุณค่าของคนคนหนึ่งเพื่อให้เขารู้ว่าการมีชีวิตอยู่ของเขา เขาอยู่แบบไหน

          ถ้าสมมติว่าพี่เดินเข้ามาหาเตย เตยก็จะต้องเริ่มจากการรู้จักพี่ก่อนว่าที่พี่เดินเข้ามาหาเตยพี่ต้องการอะไร เคสต้องการวางแผนเพราะกังวล ฉันเจ็บป่วยอยู่ ฉันอยากเตรียมเรื่องนี้ไว้ก่อน ฉันสนใจเรื่องนี้มานานมากแล้วแต่เตรียมเองไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกคนจะมีภาพฝันที่ไม่เหมือนกัน

          คำถามแรกที่เตยจะถามทุกคนที่เป็นเคสไม่ว่าจะมาด้วยรูปแบบไหนก็คือภาพฝันที่คุณมารับบริการจากเราคุณอยากเห็นอะไรในตัวของคุณ ถ้าเขาบอกว่าเขาอยากเห็นว่าเขาได้เตรียมทุกอย่างและได้รู้ว่ายังขาดการเตรียมอะไร เราก็จะนำพาเขาไปรู้จักเส้นเรื่องชีวิตของเขา ซึ่งจริง ๆ เส้นเรื่องชีวิตของเขามันมีเรื่องราวอยู่แล้ว กระบวนการของเราคือการพาเขาไปรู้จักเรื่องราวของตัวเองอย่างเข้มข้นมากขึ้น

          ขั้นแรกถ้าเป็นรายบุคคล เตยจะให้ทำกูเกิลฟอร์มมาก่อน มีแบบฟอร์มให้กรอก ให้เขาใช้เวลากับตัวเองว่าเขาคือใคร อะไรที่ทำให้เขามาใช้บริการตรงนี้ เขาเคยผ่านการสูญเสียมามั้ย เราต้องถามหมดเลยว่าชีวิตผ่านอะไรมาบ้าง พอเราวิเคราะห์แล้วว่าเขาผ่านอะไรมา เราก็จะมาออกแบบกระบวนการเพื่อนำพาเขาเรียนรู้ซึ่งไม่ใช่การให้ฮาวทู หนึ่ง สอง สาม สี่ แต่ถามว่าเรารู้มั้ย เราพอจะรู้อยู่ว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง แต่เราจะชวนเขาไปค้นหาด้วยตัวเองผ่านการตั้งคำถาม เริ่มต้นจากการทบทวนชีวิตก่อนว่าที่ผ่านมาคุณมีความภาคภูมิใจอะไรในชีวิต อะไรคือคุณค่าความหมายของคุณ คุณมีใครที่พร้อมสนับสนุนคุณบ้าง เราจะคุยเรื่องชีวิตทั้งหมดขึ้นอยู่กับชีวิตของคนคนนั้นด้วยนะ เราจะชวนตั้งคำถาม หน้าที่เราคือฟังเขาอย่างตั้งใจ

          พอเราเริ่มเห็นแล้วว่าที่เขาพูดมาคือคุณค่า คือความหมาย แล้วมันเชื่อมโยงยังไง หรือบางคนมาด้วยความกังวลมากๆ เราก็ต้องทำงานกับความกังวลของเขาก่อน พอเราทำงานเรื่องความกังวลแล้วเราจะพาเขาไปสเต็ปถัดไปคือการเตรียมในมิติอื่นๆ เพราะฉะนั้นเราจะทำมิติทางกายใจของเขาก่อนว่าเขาเป็นใคร ชีวิตเกิดมายังมีอะไรที่อยากทำอีกมั้ย มิติถัดไปเราจะคุยมิติทางการแพทย์ว่าถ้าวันหนึ่งคุณเจ็บป่วย คุณต้องการให้แพทย์ดูแลคุณยังไง ยื้อหรือไม่ยื้อ ซึ่งเป็นเรื่องของสิทธิและการเตรียมว่าถ้าคุณเจ็บป่วย คุณต้องการการดูแลแบบไหน ลองจินตนาการดูว่าถ้าวันหนึ่งคุณป่วย ติดเตียง ขยับไม่ได้ คุณต้องการให้คนรอบข้างดูแลคุณยังไง ต้องการให้แพทย์ยื้อชีวิตมั้ยถ้าช่วงท้ายของคุณไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แล้ว ก็จะชวนคุยจนได้มิติทางการแพทย์

          เสร็จแล้ว ค่อยกลับมาที่สังคมกับจิตวิญญาณ มิติสังคมก็สำคัญ เช่น เขาต้องการเจอใคร มีใครอีกมั้ยที่ยังไม่ได้เจอแล้วอยากเจอ ซึ่งบางคนมักจะตอบว่าถ้าป่วยก็ขอให้คนนั้นคนนี้มา เราก็จะถามว่าแล้วทำไมตอนนี้ไม่ไปเจอกันเลยซึ่งมันก็กลับมาที่ว่าต้องใช้ชีวิตยังไง เรียกได้ว่ากระบวนการมีแก่นของมัน แต่จะฉวัดเฉวียนไปยังไง สุดท้ายมันจะไปจบที่มิติของตัวเขาเองว่าถ้าเขาอยากตายดี เขาต้องเตรียมอะไรอีกบ้าง เพราะว่าที่เราเตรียมให้เหมือนทำให้เขารู้จักตัวเองและเห็นวิถีการตายของตัวเอง

          แต่มันจะมีเรื่องอื่นๆ อีก เช่น เตรียมเรื่องการเงิน ทรัพย์สิน พินัยกรรม ไปดูแลเรื่องความสัมพันธ์ให้ดีขึ้น หรืออยากไปเจอใครต้องไป มันจะเหมือนเป็น action plan ให้เขาไปทำต่อ เพราะฉะนั้นการมาที่เราเหมือนเขาจะได้เช็คลิสต์ตัวเอง หนึ่งคือจะได้แผนไปหนึ่งอันว่านี่เป็นหนังสือแสดงเจตนารับรองทางกฎหมายเลย สมุดเบาใจคุณยื่นให้หมอได้เลยในวันที่คุณป่วย แต่สิ่งที่เขาต้องทำต่อยังมีอีก เราจะมีการติดตามว่าไปทำหรือยัง เช่น บางคนบอกว่าต้องไปสื่อสารกับคนนี้แล้วแหละเพราะยังไม่ได้บอกอะไรเขาเลย เราก็จะจี้ว่าบอกหรือยังคะ ทำหรือยัง ติดตรงไหน นิยามการให้บริการของเรา เราเป็นเพื่อน เพื่อนตายที่มาบอกว่าถ้าคุณจะตาย คุณต้องเตรียมอะไรบ้าง อันนี้พูดในมุมคุณที่ยังสุขภาพดี ยังไม่ลงลึกไปถึงคนที่เป็นผู้ป่วยระยะท้าย

          โจ๋: ตอนต้นเหมือนแค่เข้าไปค้นหาว่าอะไรที่ทำให้เขามีชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ สิ่งที่ประคองให้เขามีชีวิตอยู่เป็นตัวเขาทุกวันนี้คืออะไร เราช่วยเขาค้นหาว่าตรงนี้คือชีวิต แล้วเขาติดอะไรตรงไหนอยู่บ้างที่ทำให้เขาจากไปไม่ได้

เบาใจ แฟมิลี่: ออกแบบการตาย ออกแบบชีวิต
แชมป์ – ชนาวุฒิ ปัญญาวัฒนากุล

สมมติว่าคนคนหนึ่งอยู่ได้เพราะต้องการจะแก้แค้นคนที่เกลียดมาก ๆ เบาใจจะคุยกับคนคนนี้ยังไง จะบอกให้เขา ‘ให้อภัยเถอะ’ หรือเปล่า

          กอเตย: ไม่บอก เพราะก็เคยมีแบบนี้อยู่ในเคสเหมือนกัน แต่ถ้าคุณอยากจะตายแบบ peaceful death แล้วทางนี้ทำให้คุณตายอย่างสงบได้ คุณทำเลย

          แชมป์: ถ้าแก้แค้นแล้วเขาสบายใจก็แก้แค้น

          โจ๋: มันก็ย้อนกลับมาที่ตอนต้นด้วยว่านิยามการตายดีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน

          แชมป์: แต่ด้วยความเป็นมนุษย์ เรามองว่าถึงแม้เขาจะแก้แค้นแล้ว เขาอาจจะไม่ได้สบายใจอยู่ดี

          กอเตย: เราไม่ได้ใช้วิธีบอกว่าอย่าทำ เราไม่ใช่ธรรมะประจำวันปลอบใจ ไม่ได้มีคำคมปลอบใจ หรือเป็นไลฟ์โค้ชเพื่อให้คุณมองทุกอย่างไปในทางบวก แต่ถามว่าเราอยากพาเขาไปในทางบวกมั้ย ใช่ แต่ไม่ใช่บวกไปเลย แก้แค้น เราจะไม่มีทางไปบอกเด็ดขาดว่าอย่าทำแบบนั้น อย่าทำแบบนี้ ไม่ใช่วิถีของเบาใจ แต่เราคือคนที่นั่งอยู่ตรงนั้นแล้วทำให้เขาคลี่คลายว่าถ้าแก้แค้นแล้วเขาได้อะไร มันจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเขาทำสิ่งนี้ แล้วจะรู้สึกยังไง

          โจ๋: ถ้าเขาตายไปพร้อมกับความรู้สึกแบบนี้เขาโอเคมั้ย

ถ้าเขาตอบโอเค เบาใจก็โอเค?

          กอเตย, โจ๋: ใช่ๆ

          กอเตย: เราไม่มีทางไปบอกเขาว่าหนูว่าพี่ไม่โอเคหรอกค่ะ เราเชื่อสิทธิของการเป็นเจ้าของชีวิต เราต้องให้สิทธิเขา แต่ระหว่างทางที่เขามาเจอเราแล้วเขาเลือกที่จะพูดกับเราว่าฉันจะแก้แค้นคนนี้แสดงว่าเขาต้องมีอะไรข้างใน อันนี้คือสิ่งที่เรารู้ การที่เราผูกติดกับใครขนาดแค้นมาก โกรธมาก มันต้องมีเรื่องความสัมพันธ์ที่แนบแน่นมากหรือต้องมีข้างในมวลใหญ่มาก หน้าที่ของเราคือช่วยเขาคลี่คลาย แล้วถ้าเขาเจอว่าสิ่งที่เขาทำไม่ก่อให้เกิดความสุขสงบ เตยเชื่อว่าทุกคนเลือกเวย์ที่อยากมีความสุขและสงบในชีวิต อันนี้เป็นความเชื่อ เป็นหลักคิดของเรา เราก็จะทำหน้าที่อยู่กับเขาตรงนั้นและไม่มีการตัดสินเขาด้วยว่าคนนี้ทำไมคิดแบบนี้ ทำแบบนี้ มันเปิดกว้างมากในพื้นที่แห่งนี้

          แชมป์: เราก็ต้องเข้าใจในมุมเขา ถ้าเขาแค้นขนาดนั้นก็คงต้องมีอะไรบางอย่างที่อยู่ข้างใน

          โจ๋: สิ่งที่เราจะมีก็คือความเห็นใจเพราะเรารู้ว่าความรู้สึกนั้นไม่ใช่ความสุขหรอก แต่อย่างที่กอเตยบอกว่าแล้วเราจะพาเขาไปค้นหาความรู้สึกนั้นยังไง

          กอเตย: แต่เราก็ไม่ใช่มานั่งช่วยเขาคิดว่าจะแก้แค้นยังไง (หัวเราะ) หลัก ๆ ของการฟังคือการไม่เลือกข้าง ไม่ใช่เข้าข้างเขาแบบเต็มที่หรือเขาข้างอีกคนอย่างเต็มที่ มันต้องกลางมากพอที่จะเป็นพื้นที่ว่างๆ ให้เขาได้ การที่เขาจะพูดว่ากูอยากแก้แค้นคนนี้ เขาต้องวางใจเราแล้วล่ะถึงมาบอกกับเรา

เบาใจ แฟมิลี่: ออกแบบการตาย ออกแบบชีวิต

การตายดีคืออะไร เพราะการตายดีของแต่ละคนน่าจะไม่เหมือนกัน จะทำให้แต่ละคนค้นหาการตายของตนได้อย่างไร

          กอเตย: มันอยู่ในกระบวนการแล้ว แต่ถ้าจะเสริมให้เข้มข้นมากขึ้น เราจะเริ่มต้นจากคำถามว่าการตายดีของเขาคืออะไร ถามว่าทำไมต้องถามคำถามนี้ จริง ๆ คำถามนี้เป็นคำถามที่ทรงพลังมากเลยนะ สมมติเตยถามคุณว่าการตายดีของคุณคืออะไร…

อาจจะเป็นตายไปโดยไม่มีภาระให้คนอยู่หลังหรือต้องการให้พ่อกับแม่จากไปก่อนแล้วเราค่อยไป

          กอเตย: เตยเห็นสองอย่าง อย่างหนึ่งคือข้างนอก คือส่งเขาให้ได้ไปอย่างเต็มที่ที่สุด แล้วเราจะไปเมื่อไหร่ก็หลังจากนั้น เพราะเราอยากดูแลเขาอย่างเต็มที่ที่สุด อันนี้มีสองทาง ทางหนึ่งเราควบคุมได้ อีกทางเราควบคุมไม่ได้ว่าเขาจะไปก่อนหรือหลังเรา แต่อันหนึ่งที่ชวนให้กลับมาได้ก็คือแล้วถ้าเขาอยากตายดี เขาจะทำอะไรเพื่อไปสู่การตายดี เช่นบางคนอาจจะกลับมานึกว่าฉันคงต้องดูแลตัวเองให้มากขึ้น ประมาทให้น้อยลงเพราะเราอยากจะมีชีวิตอยู่อย่างยืนยาวเพื่อดูแลพ่อแม่ อีกอันหนึ่งคือฉันจะไม่เป็นภาระกับใคร ที่บ้านจะต้องไม่เป็นภาระต่อการเจ็บป่วยและการตายของฉัน ตรงนี้เราก็ต้องพาเขามาหาว่าอะไรที่จะทำให้เขาเป็นภาระกับคนอื่นน้อยที่สุด แต่เราจะทำให้เขาเห็นเลยว่าอย่างน้อยเราจะเป็นภาระกับใครคนหนึ่งแน่นอน เพราะในวันที่เราไร้เรี่ยวแรง สื่อสารไม่ได้ หรือในวันที่เราตายเราเอาตัวเองใส่โลงศพไม่ได้ มันเป็นภาระอยู่แล้ว แต่เราจะเป็นภาระกับคนอื่นน้อยที่สุดได้อย่างไร เรามาออกแบบกัน

          เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าการตายดีคืออะไร กระบวนการของเรามันคือการตั้งคำถามกับเขาก่อนว่าการตายดีของเขาคืออะไร แล้วเราก็มาครีเอทภาพฝัน การถามถึงภาพฝันตอนสุดท้ายก็คือการตายดีของเขานั่นแหละว่าเขาอยากเห็นตัวเองเป็นแบบไหน เราก็พาเขากลับมาทบทวนว่าถ้าคุณอยากได้เวย์นี้ คุณไปในทางนี้นะ คุณครีเอทเลย กับอีกทางหนึ่งที่เราจะทำคือเราให้ข้อมูลเพราะว่าบางอย่างเขาก็ไม่รู้จริงๆ เช่น ถ้าเขาไม่อยากเจ็บปวดทรมานมันทำอะไรได้บ้าง บางคนมาถึงฉันอยากการุณยฆาตเลย การุณยฆาตคือการตายดีของฉัน เราก็ต้องบอกว่าการุณยฆาตในไทยยังไม่มีนะ แต่ถ้ามีทางเลือกอื่นอะไร มีการดูแลแบบประคับประคอง เราก็ต้องทำให้เขาเห็น เพราะฉะนั้นตอบยากว่าการตายดีในรูปแบบของทุกคนที่มันเชื่อมโยงกันคืออะไร แต่สิ่งที่ตอบได้คือทุกคน ไม่ว่าจะเดินเข้ามาหาเราหรือเปล่า ทุกคนอยากตายดี แต่เชื่อมั้ยว่าน้อยคนที่รู้ว่าการตายดีของตัวเองอยากตายดีแบบไหน ไม่รู้ว่าฉันอยากตายดียังไง

เบาใจ แฟมิลี่: ออกแบบการตาย ออกแบบชีวิต

กระบวนการของเบาใจใช้ได้กับทุกคนหรือเปล่า เพราะแต่ละคนก็มีความแตกต่างหลากหลาย เช่น ศาสนา ความเชื่อ บริบทชีวิต ฐานะทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

          แชมป์: อย่างที่บอก เบาใจเป็นเพื่อนชวนเขาคุย ชวนเขาคิด ชวนเขาวางแผน คำถามเราเป็นกลางมากอยู่แล้ว ตายดีคืออะไร ไม่ว่าคุณจะศาสนาอะไรคุณก็ต้องตอบในเวย์ที่เป็นความเชื่อ ความคิดของเขา เราอาจจะถามว่าแล้วคุณได้ทำมันหรือยัง หรือถ้าคุณบอกว่าคุณเป็นพุทธ เขาอยากนิพพาน คุณได้ภาวนา ได้เตรียมพร้อมหรือยัง ถ้าคุณอยากไปหาพระเจ้า คุณได้ทำอะไรในวันนี้หรือยังเพื่อวันสุดท้ายที่จะไปหาพระเจ้า สุดท้ายถ้าป่วยติดเตียงคุณอยากได้อะไร บางคนก็อยากฟังบทสวดเจ้าแม่กวนอิม เราก็สื่อสารให้คนรอบข้างรู้ แล้วก็จัดให้

          กอเตย: ต้องบอกว่าไม่ใช่แค่หลากหลายทางศาสนา แต่คนไม่มีศาสนาก็มาหาเราเยอะเพราะคนกลุ่มนี้เขาอยากได้ทางเลือก เช่น เขาไม่อยากจัดงานศพที่วัดเพราะเขาไม่มีศาสนา ไม่อยากมีบทสวด เขาจะทำหรือไม่ทำยังไงได้บ้าง แต่พอมาที่เราเขาสามารถออกแบบงานศพในแบบที่เขาอยากได้ แต่จุดหนึ่งเขาก็จะเห็นว่าเขาก็ทำไม่ได้ขนาดนั้นเพราะเขามีพ่อแม่ที่ก็คงอยากให้มีสวดบ้างแหละเพราะมันเป็นการเยียวยาคนข้างหลัง เขาก็จะเริ่มเห็นแล้วว่าเขามีตรงกลางได้ เช่น จัดงานศพเป็นนิทรรศการศิลปะก็ได้ แต่ทำในพื้นที่ที่โอเคหน่อย เขาก็จะเริ่มเห็นทิศทางว่ามันอยู่ร่วมกันได้ ไม่ต้องขวาสุดหรือซ้ายสุด แต่จะทำให้เขากลับไปเห็นคนข้างหลังมากขึ้นด้วยว่าถ้าคนข้างหลังยังต้องการสิ่งนี้อยู่ ฉันโอเคนะ

          หรือบางคนที่ไม่มีศาสนาเลย เวลาเราถามคำถามเช่นว่าในวันสุดท้ายที่คุณไม่อยากอยู่ คุณอยากให้ใครมานำทาง ถ้าคนที่นับถือศาสนาก็อาจจะให้พระบ้าง แต่บางคนก็บอกว่าต้องการตัวเขาคนเดียว อย่าให้ใครเข้ามาวุ่นวาย มันก็เป็นการเตรียมรูปแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นมันกว้างมากที่จะคุยเรื่องความตายไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาไหน จะไม่มีศาสนา แต่สุดท้ายคุณต้องตาย ทุกคนต้องเตรียมเหมือนกัน ถ้าคนที่ไม่มีศาสนาแล้วขัดข้องใจกับศาสนามากแต่ไม่เตรียม สิ่งที่เกิดขึ้นคือวันที่เขาตายทุกอย่างจัดเต็มเลย

เบาใจ แฟมิลี่: ออกแบบการตาย ออกแบบชีวิต

เวลาชวนเขาเตรียมเรื่องการตายดี อย่างที่เมื่อครู่บอกว่ามีบางอย่างควบคุมไม่ได้ ในกระบวนการก็คงมีการเตรียมเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของชีวิตด้วย

          กอเตย: ใช่ เราจะมีสถานการณ์สมมติบ้าง ถ้าเราพูดถึงเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ในกระบวนการเขาจะเรียนรู้อันหนึ่งก็คือต่อให้เตรียมการดีแค่ไหน มันอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย เช่น คุณป่วยเป็นโรคร้ายที่คุกคามชีวิต คุณเข้าสู่การดูแลประคับประคอง เราพูดกันเรื่องยื้อหรือไม่ยื้อ แต่ในแง่อุบัติเหตุที่มาแบบเฉียบพลันทันทีเราก็ต้องชี้ให้เขาเห็นด้วยว่าถ้าเกิดแบบนี้ขึ้นจะเป็นยังไง เรื่องความไม่แน่นอนของชีวิตจะอยู่ในกระบวนการของเราประมาณหนึ่ง แต่ไม่ได้เป็น pattern คนที่เตรียมจะรู้เองว่า เออ แล้วถ้าไม่ได้ล่ะมันจะเป็นยังไง เพราะจะมีคำถามที่เรามักถามเคสเสมอว่าแล้วถ้าทั้งหมดไม่ได้เป็นแบบนี้ โอเคมั้ย

          อันนี้เอาเป็นตัวเองแล้วกัน หลังจากที่ตัวเองได้เตรียม เตยรู้สึกว่ามันทำงานกับตัวเองวันต่อวันไปแล้วคือเราทบทวนชีวิตแล้วเราก็ใช้ชีวิตอย่างมีความหมายในทุกวัน ถ้ามันออกไปเจอกับความไม่แน่นอน มันเหมือนเราเตรียมใจตัวเองมาแล้วว่าวันหนึ่งเราจะต้องเจอ มันคงสั่นไหวมากแหละ แต่อย่างน้อยก็คงไม่มากขนาดที่ฉันไปต่อไม่ได้ มันยังมีสติในการอยู่กับเรามากขึ้นเพราะเราได้เตรียมหรือได้แตะประเด็นนี้เข้ามาอยู่ในชีวิต ในสมอง ในจิตใจเราแล้ว สำหรับเตยมองว่ามันเป็นกระบวนการ

          โจ๋: เพราะแม้แต่ตัวเคสเอง สิ่งที่เขาตัดสินใจไปแล้ว ถึงเวลาจริง ๆ เขาอาจจะเปลี่ยนใจก็ได้ บางคนบอกว่าตอนตายไม่อยากเจอใครเลย แต่เขาอาจจะไม่เคยอยู่ในสภาพที่ใกล้ตายจริง ๆ ไม่รู้หรอกว่าตอนนั้นเขาอยากเจอใครบ้าง หรือบอกว่าฉันไม่อยากยื้อ แต่พอถึงเวลา ไม่ ๆ ขอหมอช่วยใส่ท่อให้ก็มี เราก็ชี้ให้เขาเห็นอยู่แล้วว่าทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงได้แม้แต่ตัวเขาเอง เขาต้องเตรียมใจที่จะรับให้ได้ด้วยว่ามันอาจไม่เป็นตามแผน เพียงแต่การวางแผนไว้ก็ดีกว่าไม่ได้สื่อสารไว้เลย

          แชมป์: เมื่อเขาก้าวเข้ามาหาเราเขาก็รู้แล้วแหละว่าชีวิตเขาต้องตายใช่มั้ยครับ กระบวนการของเราก็ชวนให้เขาได้เห็นว่าแล้วเรารู้มั้ยว่าเราจะตายแบบไหน ซึ่งทุกคนก็ต้องตอบเหมือนกันหมดว่าไม่รู้ เมื่อเขาตอบว่าไม่รู้ปุ๊บก็เหมือนเขาได้เห็นแล้วว่าชีวิตมันไม่แน่นอนจริง ๆ กระบวนการทุกอย่างพาให้เขายอมรับในความไม่แน่นอน ซึ่งหลังจากที่เขาวางแผนไปไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาได้มีเมล็ดพันธุ์นี้ไว้แล้ว สมมติเขาจะเจออุบัติเหตุ พิการ แต่เขามีสิ่งนี้อยู่ เขาเข้าใจว่ามันไม่แน่นอน ช่วงแรกก็คงทำใจไม่ได้ เป็นเรื่องยากที่ต้องเจอแบบนี้ แต่วันหนึ่งเมล็ดพันธุ์นี้มันคงกลับมาทำให้เขายอมรับได้ในความไม่แน่นอนของชีวิต มันคงเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาบ่มเพาะอยู่ข้างในของแต่ละคน แต่การที่เขาก้าวเข้ามาหาเรา มันมีเมล็ดพันธุ์นี้อยู่แล้ว

          กอเตย: สมมติเตยพูดว่าวันหนึ่งเราประสบอุบัติเหตุแล้วเราไม่ได้ตายทันที เราพิการ คือไม่ต้องมาใช้บริการเบาใจก็ได้ แต่คนเตรียมเรื่องความตายหรือใกล้ชิดเรื่องนี้มาจุดหนึ่ง กระบวนการนี้ไม่ใช่การยอมรับความกลัวที่มีต่อความตายหรือยอมรับความตาย แต่มันคือการยอมรับด้วยว่าเรายังยอมรับไม่ได้ คือมันซับซ้อนกว่านั้น คือสิ่งที่จะให้เราอยู่กับความพิการคือการที่เราสามารถยอมรับได้ว่าฉันยอมรับสภาพแบบนี้ไม่ได้

          กระบวนการการทำงานจะเกิดขึ้นจากการที่เรายอมรับว่าเรารู้ว่าฉันยังยอมรับไม่ได้ที่ฉันต้องพิการ หรือยังยอมรับไม่ได้ที่อยู่ ๆ ภรรยาฉันต้องจากไป กระบวนการเยียวยาเกิดขึ้นเมื่อเรายอมรับว่าเรายอมรับไม่ได้ เพราะฉะนั้นการมาถึงไม่จำเป็นที่คุณต้องยอมรับความกลัวหรือยอมรับความตายได้ กระบวนการอาจจะแค่พาไปสู่ว่าฉันเห็นตัวเองว่าฉันยอมรับความตายไม่ได้ ฉันกลัวความตายมากก็ได้นะ

          แชมป์: ถ้าคนที่ไม่รู้ตัวว่ารับสิ่งพวกนี้ไม่ได้ เขาก็จะใช้ชีวิตแบบไม่รู้ ไม่ได้กลับมาดูแลใจที่ยังยอมรับความจริงไม่ได้ เขาก็อาจใช้ชีวิตแบบไปกินเหล้าให้มันลืม ๆ ไปเพราะไม่รู้ตัว แต่ถ้าเขาได้รู้และกลับมาทำงาน มันก็จะเป็นกระบวนการที่เขาได้เยียวยาตัวเอง ดูแลตัวเอง

เบาใจ แฟมิลี่: ออกแบบการตาย ออกแบบชีวิต

คนที่มาปรึกษากับเบาใจให้ช่วยวางแผนการตายเข้าใจว่าคงมีกระบวนการที่ให้ผู้มารับคำปรึกษาไปคุยกับครอบครัวเพื่อจัดการกับความเศร้าโศกยามเมื่อเขาจากไปด้วย

          กอเตย: บริการมีสามรูปแบบ ถ้าในเคสแบบนี้คงจะถามถึงรายบุคคล แต่อยากพูดว่าใจจริงการบริการเราอยากเริ่มต้นด้วยการชวนครอบครัวทำด้วยกัน อันนี้เป็นแพ็กเกจหลักที่ขายดีที่สุดของเราคือการทำกับครอบครัว เพราะเวลาที่เขามาอยู่ตรงนี้แล้วกระบวนการมันพาไปสำหรับครอบครัวทุกคน แสดงว่าคนที่อยู่ข้างหลังอยู่ในกระบวนการกับเรา เราก็จะชวนทำงานเรื่องการเตรียมใจเมื่อวันหนึ่งมีใครสักคนในบ้านจากไป ซึ่งกระบวนการมันจบในตัว

          แต่มันก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มารายบุคคลที่ยังรู้สึกว่าเข้าหาคนที่บ้านได้ยากเพื่อพูดเรื่องความตาย แน่นอนว่าทุกคนที่ออกแบบเสร็จเราจะบอกให้เขาไปสื่อสาร เหมือนที่บอกว่าเตยต้องจิกเลยว่าได้ไปสื่อสารหรือยัง ทีนี้เราก็จะถามเขาว่า เขาต้องการจากเราแค่ไหนเพราะมันสำคัญมาก บางทีสิ่งที่เขาอยากบอกอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ แต่ถ้าเขาต้องการ เช่นกลัวว่าถ้าจากไปแล้วคนข้างหลังจะรับไม่ได้ วิธีการของเบาใจคือจะถามเขาก่อนว่าถ้าคนข้างหลังนั้นจากไปก่อนเขาจะรับมือยังไง ต้องให้เขากลับมาทำงานกับตัวเอง

          การที่เรากังวลเรื่องการสูญเสียของตัวเราต่อคนข้างหลัง มันเป็นการมองออกไปข้างนอกตัวเอง แต่เตยจะกลับมาทำงานกับตัวเองว่าแล้วถ้าคนที่ฉันรักจากไปก่อนจะเป็นยังไง มันต้องชวนเขากลับมาเห็นจุดนี้ พอเขากลับมาคลี่คลายตัวเองได้ว่าเขาก็คงรับมือได้ยาก เพราะฉะนั้นเขาจะกลับมาเห็นว่าการรับมือได้ยากของตัวเขานี่แหละที่ทำให้เขากังวลถึงคนอื่นเพราะคิดว่าคนอื่นจะต้องเป็นเหมือนตัวเอง ซึ่งมันไม่เสมอไปเพราะอาจจะเหมือนสองคนนี้ (โจ๋กับแชมป์) ก็ได้คือสบายถ้าเตยจากไป ดังนั้นการกลับมาทำงานกับตัวเองก่อนสำคัญกว่า

          แต่ถ้าเขาบอกว่าเขาเตรียมพร้อมและคุยกับพ่อแม่แล้วว่าคงยากมากที่เขาจะจากไป ก็ต้องบอกว่างั้นลองเริ่มต้นคุยดู เราจะเริ่มให้ฮาวทูแล้วค่ะ มันต้องทำกระบวนการกับตัวเองก่อนจนกระทั่งให้ฮาวทูได้ เราก็ต้องให้ฮาวทูว่าถ้าอย่างนั้นลองคุยรูปแบบนี้มั้ย ลองเริ่มต้นจากคำถามประมาณนี้ว่าถ้าวันหนึ่งที่หนูไม่อยู่ พ่อกับแม่คิดว่าจะดูแลตัวเองได้มั้ย เอาจากข้างนอกก่อนแล้วค่อยมาพูดเรื่องจิตใจ บางคนพุ่งไปเลย แม่จะเสียใจมั้ยถ้าหนูไม่อยู่ เสียใจแน่นอน แต่ภายใต้ความเสียใจนั้นเขามีเรื่องอะไรอีก เราต้องทำงานตรงนั้นมากกว่า เพราะฉะนั้นทุก ๆ ครั้งที่เรากังวลเรื่องความสูญเสียที่คนข้างหลังจะมีต่อเรา ให้เราตั้งคำถามต่อตัวเองก่อนว่าถ้าคนเหล่านั้นจากไปล่ะ มีอะไรที่เรารับมือไม่ได้ เราจะรับมือยังไง เพราะทุกครั้งที่เรามุ่งไปหาคนอื่นแสดงว่าข้างในเราเกิดอะไรแล้ว กลับมาทำงานกับตัวเองก่อน งานของเบาใจชวนคนมาทำงานกับตัวเองเป็นหลัก

เบาใจ แฟมิลี่: ออกแบบการตาย ออกแบบชีวิต

กระบวนการออกแบบการตายกับกระบวนการออกแบบการมีชีวิตมีความสัมพันธ์กันอย่างไร

          กอเตย: เป็นคนที่คิดว่าชีวิตกับความตายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอย่างแยกกันไม่ขาด วางแผนอะไรมาบ้างล่ะชีวิต เรียนมหาวิทยาลัยก็เริ่มมคิดแล้ว จะมีแฟน แต่งงาน วางแผนการเงิน ซื้อบ้าน ซื้อรถ แต่สุดท้ายไม่เตรียมเรื่องการตายทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน พอไม่ได้มองปลายทางว่าวันหนึ่งเราต้องตาย คนคนนั้นจะทำอะไรมากมายมากเกินความจำเป็น เหมือนกับว่าชีวิตนี้ฉันจะเป็นนิรันดร์ แต่การมุ่งไปหาความตายก่อนมันทำให้เรากลับมาเห็นว่างั้นเราทำเฉพาะสิ่งสำคัญ จำเป็นต่อชีวิตเราดีมั้ย จะได้ไม่ต้องเหนื่อยเกินไปกับชีวิตนี้ หรือบางคนมีความฝัน งั้นทำไป แต่บางคนไม่มีความฝันเลย แต่พอคิดเรื่องความตายกลับเห็นบางอย่างขึ้นมาว่า อ๋อ มันมีเรื่องที่เราต้องทำ มีภารกิจของชีวิตนี้ การมีชีวิตอยู่กับการตายสำหรับเตยมันสัมพันธ์กันอย่างเต็มที่ เราไม่อาจมีชีวิตอยู่แบบฉันจะแก้แค้นมึงให้ตายเลยค่ะ แล้วจะตายอย่างดีได้ อันนี้ในแง่มุมของเตย เตยมองไม่เห็น

          แต่กับบางคนอาจจะแบบถ้ากูได้ตบมึงสองทีกูตายดีเลย มันก็เป็นไปได้ อันนี้อาจจะเป็นวิถีการอยู่ดีของเขา เพราะฉะนั้นมันเชื่อมโยงร้อยเรียงกันอย่างแยกกันไม่ขาด ทุกครั้งที่เราคิดถึงความตาย เราจะกลับมาวางแผนการมีชีวิตได้อย่างดีเสมอเพื่อจะใช้เป็นแนวทางไปสู่ความตายดีของเรา

          แชมป์: พูดเหมือนเดิม ความตายสุดท้ายก็เหมือนวันสอบ ต้องกลับมาเตรียมสอบ กลับมาดูว่าเราจะใช้ชีวิตยังไง จะทำอะไรในปัจจุบัน จะทำงาน หาเงิน ดูแลความสัมพันธ์ยังไง มันเป็นเรื่องเดียวกัน เตรียมการตายเราคงเตรียมไม่ได้ว่าจะตายแบบไหน แต่เราเตรียมการอยู่ได้ว่าจะอยู่ยังไง

          โจ๋: จะเสริมว่าถ้าเราไม่มองไปถึงตรงนั้นเราก็ไม่รู้ว่าอะไรที่ตกหล่นหายไป ดังนั้นเราก็จะกลับมาเก็บได้ เอาง่ายๆ เราจะไปต่างประเทศก็ต้องจัดกระเป๋า เราต้องมองไปข้างหน้าว่าเราต้องใช้อะไร แล้วเราต้องเตรียมตอนนี้เพราะไปถึงตรงนั้นเตรียมไม่ได้แล้ว

เบาใจ แฟมิลี่: ออกแบบการตาย ออกแบบชีวิต

คิดว่าทุกคนคงเห็นด้วยว่าการออกแบบการตายเป็นทักษะชีวิตอย่างหนึ่งที่ควรสนับสนุนให้มีการเรียนรู้ ทีนี้เราจะทำให้เกิดการสร้างทักษะนี้ขึ้นในสังคมได้อย่างไร

          แชมป์: เริ่มตั้งแต่ครอบครัวเลย เด็กแค่ล้ม เจ็บ ผู้ใหญ่ก็จะบอกว่าไม่เป็นไร ไม่เจ็บ นี่คือไม่ได้อนุญาตให้เขาได้เรียนรู้ความเจ็บปวด มันอาจจะเริ่มในสถาบันครอบครัวอนุญาตให้เด็กได้แสดงทุกอารมณ์ เรียนรู้ทุกอารมณ์ความรู้สึก ถ้าเราเริ่มตั้งแต่ตรงนั้นผมเชื่อว่ามันอาจทำให้เด็กที่โตมาเป็นผู้ใหญ่ดูแลความรู้สึกเจ็บปวดได้ แล้วมันจะพัฒนาไปสู่ความเข้าใจความสูญเสีย ยอมรับอารมณ์ลบได้ เพราะสิ่งที่เป็นอุปสรรคที่ไม่คุยเรื่องความตายเพราะกลัว หนีอารมณ์ หนีความรู้สึกไม่ดี หนีอารมณ์ลบ ถ้าเรากลับไปสร้างตั้งแต่ตอนเด็กเลยก็อาจช่วยปูพื้นฐานให้เราได้เริ่มเรียนรู้อารมณ์ในด้านนี้

          อย่างที่พี่กอเตยบอกแต่แรกว่าทุกชีวิตเจอความสูญเสียอยู่แล้ว เด็กทำของหาย เสียใจ ผู้ใหญ่ทำยังไง ไม่เป็นไร ซื้อใหม่ แต่ไม่ได้ให้เวลาเด็กทำความเข้าใจอารมณ์นี้ เข้าใจความเสียใจนี้ โตขึ้นมาหน่อยสอบตก ก็สูญเสีย จัดการไม่ได้ เครียด โตขึ้นมาหน่อย หางานไม่ได้ ตกงาน เครียด มันก็เลยมีปัญหาว่ายุคนี้มีแต่เครียด ซึมเศร้า เพราะเขาไม่เคยได้เรียนรู้กับอารมณ์ด้านนี้ ไม่เคยดูแลอารมณ์ลบตั้งแต่เด็ก ๆ มันเลยไปต่อยาก ยิ่งเรื่องความตายเป็นอะไรที่ยากที่สุดแล้ว

          โจ๋: สำหรับตัวเองเนื่องจากที่บ้านอยู่ในแวดวงประกัน พ่อกับแม่จะถามเสมอเวลาออกไปทำงานต่างจังหวัดว่าถ้าเขาไม่กลับมาเราจะทำยังไง เหมือนกับเขาชี้ให้เราเห็นตลอดว่าความตายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ตรงนี้ถ้าคนเป็นพ่อแม่ยอมรับได้ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นแล้วสื่อสารกันในครอบครัวตั้งแต่เด็ก เขาก็จะยอมรับเรื่องความตายได้ ก็จะเป็นทักษะหนึ่งในชีวิตที่เด็กติดตัวมาและการที่เรารู้เรื่องนี้เราเตรียมตัวได้ แล้วเราก็จะเรียนรู้จากพ่อแม่เราว่าเขาเตรียมอะไรไว้บ้าง แล้วเราจะเตรียมในแบบของเรายังไง

          กอเตย: ทักษะเหล่านี้ถ้าเริ่มต้นจากครอบครัวได้ก็เป็นฐานที่แข็งแกร่งและดีที่สุด แต่ในอีกขาหนึ่งเตยทำงานที่ peaceful death เราเองก็ขับเคลื่อนประเด็นนโยบายกับสังคมค่อนข้างเยอะและเราก็รู้สึกว่าอยากสนับสนุนทักษะวิชามรณะศึกษามาตลอด เพราะเราเห็นอย่างหนึ่งคือการยอมรับธรรมชาติของชีวิต แม้เกิด แก่ เจ็บ ตายจะมีแพทเทิร์น แต่บางทีอาจจะไม่ได้แก่ด้วยซ้ำ เราอยากให้วิชามรณะศึกษาไปบรรจุในกระทรวงศึกษาธิการอย่างจริงจัง แล้วเกิดหลักสูตร มันเกิดจากที่เรามีความเชื่อว่าวิชานี้ทำให้คนกลับมาเชื่อมโยงกับการอยู่ ทุกวันนี้เชื่อมั้ยว่าถ้าเราถามเด็กร้อยคน เกินครึ่งไม่มีความฝันหรือไม่รู้ว่าตนเองต้องทำอะไรให้สำเร็จหรืออยากบรรลุก่อนตาย หลายคนบอกไม่มี

          เตยเชื่อว่าทุกคนไม่ต้องมีเป้าหมายของชีวิตก็ได้ แต่อย่างน้อยเขาต้องได้เห็นว่าอะไรคือคุณค่าหรือสิ่งที่เขาอยากทำอย่างแท้จริง ซึ่งการเรียนวิชานี้หรือการเรียนรู้ว่าวันหนึ่งเราต้องตาย มันทำให้คนกลับมาเห็นสิ่งนี้ได้ กลับมายอมรับตัวเองได้อย่างที่ตัวเองเป็น ได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองชอบ ได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ หรือได้เห็นคุณค่าความหมายของชีวิต

          สิ่งสำคัญคือมันทำให้คนคนนั้นกลับมามีความสุขกับการมีชีวิตมากขึ้น ยอมรับความตายโดยธรรมชาติได้มากขึ้น เพราะถ้าเราไม่เรียนรู้เลย เราผลักไสมัน ทำให้ความตายอยากมาถึงเราเร็วๆ ในวันที่เราไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร อันนี้คือสิ่งที่น่ากลัว เพราะฉะนั้นถ้าเราจะทำให้มันเป็นทักษะก็ไม่ควรถูกแยกว่านี่คือทักษะวิชาเรื่องความตาย แต่ควรเป็นวิชาชีวิตและความตายที่ให้ได้เรียนรู้ทั้งชีวิตและความตายของตัวเอง เพราะถ้าไม่เข้าใจชีวิตไม่มีทางเข้าใจความตายได้เลย

          ทุกวันนี้แค่จะพูดหลักสูตรการทำความเข้าใจชีวิตยังน้อยเลย อย่างการรับรู้อารมณ์ความรู้สึก การยอมรับหรือยอมรับไม่ได้ มันเป็นเรื่องพื้นฐานของชีวิตที่ทุกคนต้องมี เด็กมีคลังคำเรื่องความรู้สึกน้อยมาก ถามว่าเขารู้สึกอะไร เขาบอกไม่ได้ ถ้าเขามาเรียนรู้เรื่องพวกนี้การไปถึงความตายจะทำให้มันง่ายต่อเขามากขึ้นหรือบางทีอาจจะรู้จักความตายแล้วมารู้จักชีวิตมากขึ้น ในต่างประเทศบางประเทศมีให้เด็กเรียนรู้เรื่องความตายโดยเป็นวิชาเลือกเสรี แต่ในไทยเรามองว่าต้องทำพื้นฐานครอบครัวกับในระบบไปด้วยกันถึงจะเกิดขึ้นได้

เบาใจ แฟมิลี่: ออกแบบการตาย ออกแบบชีวิต

บอกว่ามีโครงการที่ลำปาง ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าเป็นโครงการอะไร

          กอเตย: เบาใจ แฟมิลี่ใช้เครื่องมืออันหนึ่งของ peaceful death คือสมุดเบาใจมาเป็นหนึ่งในบริการ แต่ peaceful death ที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้มีการทำงานเรื่องชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี ซึ่งเราทำงานกับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเพื่อน กลุ่มชุมชนในต่างจังหวัด กลุ่มชุมชนในเมือง มีกลุ่มหนึ่งที่ชื่อว่าชุมชน ‘กรุณาขะไจ๋’ เขาออกแบบหลักสูตรวิชาธรรมชาติของชีวิตเพื่อสอนเด็ก ๆ สอนเรื่องเกี่ยวกับการพลัดพรากสูญเสีย สอนเรื่องธรรมชาติของชีวิตว่าคนเรามีช่วงของความตายนะ สอนให้เด็กกลับมารับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง มันเป็นวิชาที่ทำให้เห็นธรรมชาติความเป็นไปว่าชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน ก็เข้าไปทำหลักสูตรให้โรงเรียนแล้วนำร่องที่ลำปาง ซึ่งผลออกมาเด็กๆ กลุ่มนี้สามารถเข้าใจความรู้สึก เข้าใจความต้องการของตัวเองได้ รับรู้ว่าชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง มีความไม่แน่นอน จนถึงความตาย แล้วยังมีการพาเด็ก ๆ ลงชุมชน ไปเยี่ยมดูผู้ป่วยระยะท้ายหรือผู้ป่วยสูงอายุที่ใกล้ตาย เพื่อให้เห็นว่าชีวิตมีเส้นทางแบบนี้ ๆ มันเป็นการนำร่องของเรา ยังไม่ได้เข้าไปอยู่ในกระทรวง แต่เหมือนไปร่วมมือกับครูแล้วขอทำในวิชาแนะแนวในโรงเรียน

จากที่ทำงานมาคุณคิดว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ตั้งแต่เชิงปัจเจก ครอบครัว จนถึงระดับโครงสร้างประเทศที่เป็นอุปสรรคต่อการตายดีของผู้คน

          กอเตย: ถ้าจำแนกออกเป็นสองประเด็น หนึ่งเลยที่ทำให้พวกเราตายไม่ดีคือตัวเอง คนมักจะคิดว่าฉันพร้อมไปหมดแล้ว คนที่ไม่ค่อยเตรียมตัวเองจะชอบบอกว่าพร้อมตายเพราะเขายังไม่รู้ว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง อุปสรรคคือตัวเรา คือการที่เราพยายามผลักไสมันแล้วบอกว่าเราพร้อม

          อีกอันหนึ่งคือสิ่งที่เราทำอยู่ทุกอย่างต้องเชื่อมโยงกับนโยบายเชิงโครงสร้างมากๆ ต้องบอกว่าไม่ใช่ทุกคนในประเทศไทยที่จะมีประกันสุขภาพหรือสามารถทำให้คุณได้ตายดี อย่างเรื่องทั่วไป พอคุณป่วย คุณได้รับการดูแลที่ดีถ้าคุณมีเงินมากหน่อย คุณวางแผนการเงิน คุณมีฐานะหน่อย คุณตายดีแน่นอน ถ้าคุณไม่ต้องการยื้อชีวิต อยากกลับบ้าน คุณก็จ้างพยาบาลดีๆ มาอยู่ที่บ้านช่วยดูแลได้

          แต่คนที่เป็นกลุ่มกลาง ๆ แบบเรา ณ วันนี้ระบบโรงพยาบาลก็สนับสนุนเรื่องการดูแลแบบประคับประคองมากขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ถูกทำให้รับรู้ในวงกว้าง เรื่องที่เตยอยากฝากไปถึงคือคนไทยทุกคนควรได้รู้ว่าตัวเองมีสิทธิ์ที่จะแสดงเจตนาในช่วงวาระท้ายของชีวิต เตยว่ายังไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทยที่รู้ทั้งที่เรามี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติตั้งแต่ปี 2550

          สองก็คือภาครัฐที่สนับสนุนผู้ป่วยระยะท้ายอย่างจริงจัง คนที่อยู่ในวาระท้ายที่ควรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ควรได้รับการดูแลแบบยกระดับ เช่น การมีศูนย์ดูแลสุขภาพที่ดีที่อยู่ในทุกชุมชน ถ้าช่วงท้ายจริง ๆ ที่เกินมือญาติแล้ว ดูแลไม่ไหว แล้วอยากพาเขาไปตายดีตรงนั้น คือลูกหลานยังต้องทำงาน แต่มีศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย มีบุคลากรเพียงพอและมีความเข้าใจ ทำให้เป็นเรื่องปกติ ไม่หมกเม็ดที่จะพูดเรื่องความตาย ทำอินโฟกราฟิกอะไรก็ได้ ให้ความรู้หน่อยว่าประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิการตายดีได้ในรูปแบบยังไงบ้าง เตยว่ามันจะมาเชื่อมต่อกับความต้องการของผู้คนที่อยากตายดี เพราะสุดท้ายแล้วมันสำคัญมาก ๆ เลยว่าทุกอย่างต้องใช้งบประมาณโดยมีรัฐช่วยสนับสนุนส่งเสริม เราอยากให้ทุกคนได้เข้าถึงสิ่งนี้ แต่ว่าในความเป็นจริงโลกไม่ได้สวย ทุกคนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิตรงนี้ได้ 

          อีกอันหนึ่งอาจจะพูดเสริมไปถึงเพื่อนหมอแล้วกันที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยระยะประคับประคอง คือเป็นหมอที่มีใจอยากทำงาน palliative care แต่หมอเฉพาะทางนี้ไม่มีที่ยืนในประเทศไทยนะคะ ต้องไปฝากไว้กับหมอสูงอายุ เขาไม่มีที่ทางและไม่ได้รับการมองเห็น ทั้งที่หน้าที่ของเขาสำคัญมากและสามารถทำให้ผู้ป่วยคนหนึ่งตายดีได้ ทุกคนเตรียมๆๆ อย่างดีแค่ไหนพอไปถึงจุดนั้นแล้วมันขาด ไม่มีการเชื่อมต่อ มันยากเลย

          โจ๋: บางทีระดับครอบครัวเข้าใจนะ คุยกันเรียบร้อยแล้ว ไปถึงโรงพยาบาลเจอหมอด่าว่าอกตัญญูเหรอ ปล่อยให้พ่อแม่ตาย ในทัศนคติของคนเป็นหมอก็ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจการดูแลแบบประคับประคอง ตรงนี้คืออุปสรรคและทำให้ยากที่คนจะเข้าถึงการตายดีในสังคมไทยเพราะโดยระดับนโยบายเข้าไม่ถึง หมอที่ควรเข้าใจก็คิดว่าคนไข้ตายไม่ได้ ต้องรักษาจนสุด ทำยังไงก็ได้ให้เขาไม่ตาย แต่ไม่ได้สนใจคุณภาพชีวิต

          สื่อก็สำคัญ เช่นถ้าเราจะบอกว่าเขามีสิทธิ แต่ทุกคนอาจจะไม่รู้ว่ามี ถ้าสื่อพูดถึงสิ่งนี้ในทีวีหรือสื่อที่คนเข้าถึงได้มาก เหมือนอย่างละครเกาหลีที่สมมติมีคนป่วยขึ้นมา หมอจะถามเลยว่าคนป่วยได้แสดงสิทธิไว้มั้ย ตรงนี้ก็มีคำพูดบางอย่างที่ปรากฏขึ้นมาในละคร ซึ่งเราสามารถให้ความรู้ลงไปได้ว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อจะเข้าถึงสิทธิตรงนี้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นซีรีส์ทางการแพทย์

          แชมป์: ประเด็นหมออาจต้องทำให้หมอเข้าใจความตายมากขึ้น ไม่ใช่เราเป็นหมอต้องรักษาคนให้หาย มันอาจจะไม่ใช่ทุกเคสที่สามารถรักษาให้หายได้ ต้องยอมรับความผิดหวังของตัวเอง เมื่อรักษาคนนี้ไม่ได้แล้ว หมอก็ต้องยอมปล่อย ยอมรับความตายของคนไข้ให้ได้ นโยบายที่อาจยังเข้าไม่ถึงว่าคนเราสามารถแสดงเจตนาได้ และถึงแม้ว่าจะเข้าถึงแล้วแต่ก็เจอเคสที่อาจใช้ไม่ได้จริง แสดงไว้แล้ว แต่สุดท้ายไปถึงโรงพยาบาลใช่ไม่ได้ หมอก็ต้องขึ้นอยู่กับญาติว่าจะตัดสินใจยังไงอีก มันไม่มีสิทธิ์ขาดว่าถ้าเราตัดสินใจแบบนี้ ถ้าใครไม่ทำตามก็จะมีผลตามกฎหมายอะไรที่มารองรับซึ่งยังไม่มี ก็เจอปัญหานี้ค่อนข้างเยอะ คนถามว่าเขียนสมุดเบาใจแล้วจะได้ตามนี้มั้ย

          ย้อนกลับมาที่ประเด็นแรกที่กอเตยตอบว่าต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อน เพราะนโยบาย หมอ หรืออะไรต่าง ๆ ที่เราเตรียมมันเป็นปัจจัยภายนอกทั้งหมด เงินทอง การรักษาอย่างดีหรือไม่ดี ไม่ใช่ว่าคนรวยจะได้ตายดีเสมอไป คนรวยในโรงพยาบาลเอกชนโดนยื้อเต็มที่เพราะโรงพยาบาลได้รายได้ก็อาจจะไม่ได้ตายดี มันก็ต้องย้อนกลับมาที่ตัวเราเอง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจะแสดงเจตนาหรือไม่ วันสุดท้ายของชีวิต เราทำใจยอมรับความตายของตัวเราได้แค่ไหน ยอมรับความไม่แน่นอนได้แค่ไหนว่าอะไรจะเกิดรอบข้างเรา คนข้างหลังจะเสียใจ การรักษาอาจจะไม่มีตังค์ อยู่แบบอนาถา แต่ใจเรายอมรับได้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น วันนี้วันสุดท้ายของฉัน ฉันจะปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างไป ทุกอย่างเป็นปัจจัยภายนอกที่จะเกื้อหนุนให้ตัวเราได้ตายดี แต่สิ่งสำคัญสุดคือตัวเราเอง

          กอเตย: มีเสริมอีกประเด็นหนึ่ง มันต้องมีการขับเคลื่อน อย่างล่าสุดเตยไปคุยกับ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เขาก็อยากทำฐานข้อมูล คือเขาอยากมั้ยไม่รู้ แต่เราเสนอแล้วเขาก็รับเรื่องไว้ คือการทำฐานข้อมูลว่าคนไทยคนนี้บริจาคร่างกายมั้ย คนนี้ได้แสดงสิทธิ์ไว้มั้ยว่าถ้าอยู่ในวาระท้ายขอยื้อหรือไม่ยื้อ หรือสภาพแบบไหนที่เขารับไม่ได้ เช่นถ้าประสบอุบัติเหตุรุนแรง เขาได้บริจาคอวัยวะมั้ย ถ้ามีฐานข้อมูลนี้ที่ทำโดยภาครัฐมันจะเอื้อต่อประชาชนอย่างมาก เพราะทุกคนเริ่มอยู่คนเดียวมากขึ้น เป็นโสดมากขึ้น โดยเฉพาะคนเมือง ถ้ามีอันนี้มารองรับจะทำให้เขาสามารถเข้าสู่การตายดีได้ซึ่งก็อยู่ในช่วงขับเคลื่อน ยังไม่รู้ว่ารูปการณ์จะเป็นแบบไหน แต่ตอนนี้ สปสช. ก็เอาเราเข้าไปแบบเผื่อว่าอยากจะทำ ACP ให้กับทุกคนได้เตรียมซึ่งก็ดี แต่ถ้า ACP นี้ถูกบันทึกเข้าสู่ระบบของรัฐ ทุกคนก็จะเข้าใจตรงกัน เป็นอันหนึ่งที่พยายามขับเคลื่อนในเชิงนโยบายอยู่

เบาใจ แฟมิลี่: ออกแบบการตาย ออกแบบชีวิต

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก