‘อาคุงกล่อง’ สื่อมวลชนผู้ไร้ตัวตนแห่งวงการวรรณกรรม

1,415 views
7 mins
September 4, 2023

          ภายในห้องแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือที่คลาคล่ำด้วยผู้คน ทุกสายตาจับจ้องไปยังนักเขียนชื่อดังกำลังตอบคำถามอย่างออกรส สลับกับเสียงหัวเราะครื้นเครงเป็นระยะ 

          ชั่วขณะที่ความสนใจของทุกคนพุ่งเป้าไปบนเวทีนั่นเอง ชายร่างผอมสูงเก้งก้าง หวีผมเรียบแปล้ ก้าวฉับไวไปยืนกดชัดเตอร์บันทึกภาพนิ่ง ประเดี๋ยวเดียวก็ย้ายตัวเองไปยังตำแหน่งที่ตั้งกล้องวิดีโออีกตัวเพื่อเช็กดูว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี

          ไม่มีใครสนใจเขา และดูเหมือนว่าเขาจะไม่สนใจใครเหมือนกัน นอกจาก ‘งาน’ ที่จดจ่อตรงหน้า

          หากเอ่ยชื่อกล่อง’ – พีรศุษม์ โชตินิพัทธ์ เชื่อว่าคงไม่มีใครรู้จักแน่ๆ แต่สำหรับคนในวงการหนังสือแล้วชายคนนี้คงจะคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี เพราะเขาคือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ผู้อยู่เบื้องหลัง วรรณกรรมรีวิว โดย อาคุงกล่อง เพจเฟซบุ๊กและแชนแนลยูทูบที่รายงานข่าวความเคลื่อนไหวน่าสนใจในแวดวงการเขียนและการอ่านมานานหลายปี

          บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะพาไปรู้จักกับ ‘กล่อง’ – พีรศุษม์ สื่อมวลชนสายวรรณกรรมที่หลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่คน ชายผู้อุทิศตนมาทำในสิ่งที่เชื่อ แม้ว่าผลตอบรับกลับมานั้นอาจสวนทางกลับสิ่งที่ลงทุนลงแรงไป แถมบางครั้งยังถูกปฏิบัติราวกับเป็นคนไม่มีตัวตน ทว่าสิ่งเดียวที่ทำให้พีรศุษม์ลุยต่อไปข้างหน้าอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยได้ 

          เขาเรียกมันว่า ‘ศรัทธา’

‘อาคุงกล่อง’ สื่อมวลชนผู้ไร้ตัวตนแห่งวงการวรรณกรรม
Photo: อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

‘อาคุงกล่อง’ คือใคร มาจากไหน 

          ผมเป็นคนชนชั้นกลางคนหนึ่ง เติบโตมาเหมือนเด็กทั่วไป เรียนประถมที่โรงเรียนบางปะกอก จบชั้นมัธยมที่โรงเรียนทวีธาภิเศก แล้วก็มาเอ็นทรานซ์ติดคณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตร ในปี 2530  

          ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็เป็นนักกิจกรรมตัวยง ปี 2 ก็ได้เป็นรองประธานชมรมรัฐศาสตร์ ปี 3 เป็นนายกสโมสรนิสิตคณะสังคมศาสตร์ฯ พอขึ้นปี 4 ช่วงนั้นกระแสการประท้วงเขื่อนน้ำโจนมาแรง เราก็ไปเข้าร่วมกับเขา กลางวันเข้าห้องเรียน เวลาที่เหลือก็ออกไปทำกิจกรรม แต่ก็เรียนจบภายใน 3 ปีครึ่ง

หลังเรียนจบแล้วไปทำอะไรต่อ

          ผมจบมาในยุคที่เศรษฐกิจดีที่สุด สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ ปี 2533 สมัครงานที่ไหนก็โดนเรียกทุกที่ ผมเลือกทำงานในฝ่ายปฏิบัติการสินเชื่อของธนาคารเอกชนแห่งหนึ่ง ทำหน้าที่สำรวจหลักทรัพย์ ประเมินราคาที่ดิน ราคาเครื่องจักร ราคาโรงงาน ทุกอย่างที่เป็นอสังหาริมทรัพย์

          พอทำได้สองปี ธนาคารก็ส่งไปอบรมหลักสูตร Executive Trainee เรียนด้วย ฝึกงานจริงไปด้วยเพื่อจบออกมาเป็นผู้บริหารตามสาขาต่างๆ ผมจบโครงการตอนอายุ 27 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการสาขาที่อายุน้อยที่สุด มีลูกน้อง มีรถประจำตำแหน่ง วันๆ ออกไปเดินเคาะประตูบ้านชวนคนมาเป็นลูกค้า เส้นทางอาชีพก้าวหน้าพอสมควร แต่พอเกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตก ธนาคารผมโดนฝรั่งเทกโอเวอร์ คนที่ตำแหน่งสูงและอายุยังน้อยอย่างผมก็เลยถูกให้ออก 

          หลังจากนั้นผมไปเป็นฟรีแลนซ์ทำข่าวกีฬาให้กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ช่วงนั้นมีมหกรรมฟุตบอลยูโร 2000 ต่อด้วยโอลิมปิกที่ซิดนีย์ช่วงปลายปี เราก็แปลข่าว เขียนข่าว ตอนนั้นอินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามาแล้วก็เลยเขียนบล็อกด้วย เจออะไรน่าสนใจก็เขียน ท่องเที่ยว รีวิวอาหาร 

          วันหนึ่งมีคนบอกว่า เฮ้ย ทักษิณจะเป็นนายกฯ นะ หุ้นน่าจะเวิร์ก เพื่อนแนะนำให้ไปสอบไลเซนส์ใบอนุญาตผู้ค้าหลักทรัพย์ พอสอบได้ก็ไปสมัครงานที่บริษัทโบรกเกอร์แห่งหนึ่ง ทำงานที่นั่นนาน 10 ปี ตำแหน่งสุดท้ายคือผู้จัดการห้องค้าหลักทรัพย์ แต่แล้วก็จำเป็นต้องออกจากงานอีก เพื่อมาดูแลคุณแม่ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง  

‘อาคุงกล่อง’ สื่อมวลชนผู้ไร้ตัวตนแห่งวงการวรรณกรรม
Photo: อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

เข้าสู่วงการหนังสือได้ยังไง

          สมัยทำงานบริษัทโบรกเกอร์ เวลาว่างผมเขียนบล็อกไปด้วย ชอบเขียนเรื่องตลกสั้นๆ ลงพันทิปกับบล็อกแก๊ง เพราะงานการเงินมันเครียด คนอ่านก็ชอบกัน แต่วันหนึ่งมีคนมาคอมเมนต์ว่าเรื่องของคุณตลกดีนะ แต่ภาษาเหมือนคนเขียนหนังสือไม่เป็น มันสะกิดใจเราว่าเฮ้ย เราเขียนหนังสือไม่เป็นจริงๆ เหรอวะ ก็เลยมีความคิดแวบเข้ามาว่าหรือเราต้องศึกษาเรื่องการเขียนจริงๆ จังๆ  

          ช่วงที่แม่อาการดีขึ้น ผมก็ไปหาคอร์สที่สอนฟรีจนได้เรียนกับอาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง สมัยที่ท่านเป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ด้วยความที่เราเป็นบล็อกเกอร์ เลยจดทุกอย่างที่เรียนมาแล้วเขียนเล่าลงในบล็อก คนอ่านก็ชม เราจึงเริ่มเห็นว่ามันมีประโยชน์กับคนอื่น ทีนี้ก็เริ่มไปงานเปิดตัวหนังสือ ครั้งหนึ่งไปงานเปิดตัวหนังสือของนักเขียนคนหนึ่งแล้วกลับมาเขียนข่าวตามปกติ ปรากฏว่าไม่กี่วันถัดมาเจอนักเขียนคนนี้อีกครั้ง เขาทักว่าคุณเขียนผิดนะ ผมไม่ได้พูดอย่างนั้น ก็มานั่งคิดว่า เออ เราน่าจะจดพลาดไป เลยไปซื้อเครื่องอัดเทปมาบันทึกเสียงบนเวทีเสวนา 

          ทำมาเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าเนื้อหามันได้แล้ว แต่พอเขียนลงพันทิปมันมีแต่ตัวหนังสือ คนไม่ค่อยอ่าน เขาชอบดูรูปมากกว่า ก็เลยซื้อกล้อง จากบทความก็เริ่มมีภาพประกอบ ต่อมาเข้าสู่ยุคโซเชียล มีเฟซบุ๊ก ยูทูบ คอนเทนต์วิดีโอเริ่มบูม กลายเป็นว่าเราต้องทำเนื้อหา 3 ประเภทคือข้อเขียน ภาพนิ่ง แล้วก็วิดีโอด้วย

ตอนนั้นคิดว่าเป็นงานประจำ หรืองานอดิเรก 

          สิ่งที่ผมทำไม่ใช่อาชีพเพราะมันไม่ได้ผลตอบแทนกลับมาเป็นเงิน ผมศรัทธาในสิ่งที่ทำมากกว่า เชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำมันดีและมีประโยชน์ 

          เมื่อปลายปีก่อน ผมเจอนักแปลคนหนึ่งที่ลำปาง เขาทำธุรกิจเครื่องประดับเครื่องหนังซึ่งถือเป็นแบรนด์ที่ติดตลาดเลย ขณะเดียวกันก็แปลหนังสือด้วย ผมถามเขาตรงๆ ว่าธุรกิจพี่ก็ดีอยู่แล้ว ทำไมถึงยังทำงานแปลอยู่ เขาตอบว่า ‘ถ้าสิ่งที่เราทำมันมีประโยชน์และดีกับคนอื่น แล้วเรารู้สึกภูมิใจในสิ่งที่ทำ ก็จงทำไปเถอะ ไม่ต้องแคร์อะไร’ ประโยคนี้แหละคือคำตอบที่ผมตามหามานาน 

          วันนี้ผมพกกล้องมาสองตัว มีขาตั้งด้วยเพราะต้องถ่ายวิดีโอ นอกจากนี้ยังมีทั้งไมโครโฟนไร้สาย 2 ชุด มีโทรศัพท์มือถือสำรองไว้อีกเครื่องเผื่อถ่ายคลิปสั้น แบกไปแบกมาแบบนี้แหละ งานเสร็จก็กลับบ้านไปถ่ายข้อมูลลงเอกซ์เทอร์นัลฮาร์ดดิส ชาร์จแบตให้เต็ม พรุ่งนี้ก็ออกไปทำงานใหม่ ถ้าไม่ศรัทธาในสิ่งที่ทำ ผมคงไม่มีทางตื่นเช้าออกจากบ้านมาทำอะไรแบบนี้ได้

‘อาคุงกล่อง’ สื่อมวลชนผู้ไร้ตัวตนแห่งวงการวรรณกรรม
Photo: อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

เวลาไปงานต่างๆ คุณรู้หมายข่าวมาจากไหน

          ครั้งแรกเลยมีผู้ใหญ่ที่รู้จักกันได้รับเชิญไปงานแถลงข่าวการจัดงานหนังสือที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ แต่เขาไม่ไปและคงเห็นว่าผมอยากไปงานนี้ เลยแนะนำว่า คุณไปสิ ไปหาคนชื่อนี้นะที่ดูแลสื่ออยู่ 

          พอไปถึงห้องแถลงข่าว ผมเลือกนั่งแถวหลังสุด เพราะเดี๋ยวต้องลุกไปเดินถ่ายรูป แต่มันก็ยังโดนบังด้วยบรรดาสื่อหลัก สื่อรอง สื่อทางเลือก จบงานผมเดินไปขอสัมภาษณ์คนที่มาร่วมงานนอกรอบ เขาถามว่าคุณเป็นใคร มาจากทีวีช่องไหน หรือมาจากหนังสือพิมพ์ฉบับไหน พอผมตอบว่าไม่ใช่ เขาก็บอกว่างั้นดิฉันขอปฏิเสธนะคะ พอดีมีนัดหมายกับทีวีช่องหนึ่งไว้ 

          วันนั้นรู้สึกว่าเราตัวเล็กมากๆ แต่ก็ไม่ถอยนะ ยังไปออกงานอยู่เรื่อยๆ จนเดี๋ยวนี้เวลามีงานแถลงข่าวการจัดงานหนังสือ สื่อหลักเขาเลิกไปทำข่าวกันแล้ว ผมจึงได้เลื่อนสถานะกลายเป็นสื่อเพียงคนเดียวที่อยู่ในงาน

ด้วยความโนเนม ไม่ได้มาจากสื่อใหญ่ เวลาทำงานถูกปฏิเสธบ่อยไหม

          เยอะ (ตอบเร็ว) แรกๆ ก็น้อยใจนะ เขามองเหมือนผมไม่มีค่า แต่สิ่งที่เปลี่ยนความคิดเราคือตอนไปทำข่าวหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งแจกรางวัลประกวดเขียนบทความให้กับเด็กนักเรียนชั้นประถม

          วันนั้นมีผู้ใหญ่ระดับองคมนตรีมาแจกรางวัลให้นักเรียน 60 คน ผมก็ถ่ายทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ พอจบงานก็เอารูปทั้งหมดกว่า 300 รูปไปลงในพันทิป ปรากฏว่ามีเด็กนักเรียนที่ได้รับรางวัลไปเสิร์ชหาจนเจอรูปที่ผมถ่ายไว้  เขาแชทหลังไมค์มาบอกว่า ‘ขออนุญาตเซฟรูปส่งไปให้พ่อผมดูนะครับว่าได้รับรางวัลจริง’ 

          คุณเคยได้รับคำขอบคุณจากใครสักคนที่เขาขอบคุณเราจริงๆ ไหม ความสุขมันเปี่ยมล้นตอนที่เขาบอกว่า ‘ขอบคุณครับ’ อย่างเด็กคนนี้พ่อเขาคงไม่เชื่อถ้าไม่มีรูปที่เราถ่ายตอนลูกเขาขึ้นไปรับรางวัล ข่าวทีวีอาจไม่มีรูปเขาด้วยซ้ำเพราะเวลาออกอากาศน้อย ช่างภาพอาจเก็บภาพได้ไม่ครบ แต่เราทำได้ กล้องวิดีโอตัวนึงตั้งแช่ค้างไว้บนเวที ส่วนกล้องอีกตัวก็เก็บภาพนิ่งอยู่ข้างล่าง

‘อาคุงกล่อง’ สื่อมวลชนผู้ไร้ตัวตนแห่งวงการวรรณกรรม
Photo: อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

จากวันแรกที่ไม่มีใครรู้จัก พอไปออกงานบ่อยๆ ท่าทีที่คนอื่นมองเราเปลี่ยนไปไหม

          ดีขึ้นนะครับ พูดตรงๆ ว่า วิธีการที่คุณจะอยู่ในโลกออนไลน์ได้คือต้องสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ห้ามหยุด ถ้าคุณหายไปวันนึง ระบบการมองเห็นของเฟซบุ๊กก็จะไปหยิบคนอื่นขึ้นมาแทน 

          โลกออนไลน์มันเหมือนกับว่าทุกคนยืนอยู่ริมสระน้ำแล้วโยนก้อนหินลงไป ใครจะโยนก้อนหินลงไปให้มันกระเพื่อมได้มากกว่ากัน สื่อใหญ่เขาโยนหินก้อนใหญ่ แรงกระเพื่อมก็จะกว้างมาก ส่วนเราเป็นแค่คนตัวเล็กๆ โยนก้อนหินก้อนเล็กๆ แต่โยนตลอด  ดังนั้นวงของเราก็จะกระเพื่อมอยู่เสมอ ความต่อเนื่องทำให้ผมยังอยู่ในตรงนี้ได้ ทำให้ยังพอมีคนรู้จักบ้าง

ทุกวันนี้เวลาไปงานไหน เจ้าของงานรู้แล้วใช่ไหมว่าคุณคือใคร มาทำอะไร

          ไม่ครับ เราต่างหากที่รู้ตัวเองว่าควรไปงานไหนและไม่ควรไปงานไหน สำนักพิมพ์ใหญ่บางแห่งเขามีสื่อของตัวเอง เราก็ไม่ไป แต่ยังมีอีกหลายสำนักพิมพ์ที่เขาต้องการสื่อ ฉะนั้นเราก็เลือกไปงานที่เขาต้องการให้เราช่วย 

‘วรรณกรรมรีวิว โดย อาคุงกล่อง’ ทำไมถึงเปิดช่องนี้ขึ้นมา

          ตอนแรกจะใช้คำว่ารีวิววรรณกรรม แต่ว่า ว. แหวนติดกัน 3 ตัว ดูแล้วไม่สวย (หัวเราะ) เลยใช้คำว่า ‘วรรณกรรมรีวิว’ โดยเล่าผ่านตัวผมนั่นคือ ‘อาคุงกล่อง’ คำว่าอาคุงกล่องมาจากสมัยทำงานธนาคารแถวเยาวราช มีลูกค้าเชื้อสายจีนคนหนึ่งชอบเรียกเราว่า อาคุงกล่องๆ เพื่อนเลยแซวกัน ก็เลือกใช้ชื่อนั้นเป็นนามปากกา

          ผมตั้งใจทำเพจวรรณกรรมรีวิวขึ้นมาเพื่อนำเสนอเรื่องราวดีๆ ในแวดวงหนังสือ แวดวงวรรณกรรม รวมทั้งการอ่าน การเขียน การแปล และงานศิลปะ ถ้าเรื่องไหนไม่อยู่ในหัวข้อเหล่านี้ ผมไม่ทำ พอเรากำหนดตัวเองชัดเจนมันก็ทำงานง่ายขึ้น

‘อาคุงกล่อง’ สื่อมวลชนผู้ไร้ตัวตนแห่งวงการวรรณกรรม
Photo: อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

ที่ผ่านมาใช้เงินตัวเองทั้งหมดเลยเหรอ

          ผมเออร์ลีรีไทร์จากธุรกิจหลักทรัพย์ได้เงินมาก้อนใหญ่ ตอนนี้หมดไปสองแสนกว่าบาทแล้ว ส่วนหนึ่งหมดไปกับอุปกรณ์ที่คุณเห็นเพราะผมไม่มีผู้ช่วย ถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เงินที่ควรจะเก็บไว้ใช้ในอนาคตก็คงจะหมด 

          ผมให้คุณทายว่าตอนนี้กระเป๋าตังค์ผมมีเงินเท่าไหร่ … 40 บาท เพราะเมื่อเช้ามีงานสัมภาษณ์พระ ผมพกมา 300 บาทก็เลยถวายเพลท่านไป ทุกวันนี้ผมกินน้อยที่สุด วางแผนการเดินทางอย่างประหยัดที่สุด วันก่อนไปสมาคมนักเขียนฯ เจ้าหน้าที่สมาคมเขาพาไปกินเอ็มเค ผมเข้าเอ็มเคครั้งสุดท้ายคือไปกินกับแม่สมัยที่ท่านยังแข็งแรง หลังจากนั้นมาไม่ได้เข้าเลยเพราะมันแพง 

ท้อบ้างไหม

          ไม่ท้อนะ ถ้าท้อผมเลิกไปตั้งนานแล้ว 

ถ้าบทสัมภาษณ์นี้ออกไป อยากฝากอะไรถึงคนที่มองเห็นในสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่

          อยากบอกว่าช่วยสนับสนุนผมหน่อย ผมจะได้ทำงานต่อ คุณอาจจะสนับสนุนด้วยการกดติดตาม กดแชร์ หรือสนับสนุนด้วยเงินทุน พูดตรงๆ ว่าผมต้องเดินทางออกไปทำงานข้างนอก ถ้านั่งอยู่บ้านผมไม่สามารถทำคอนเทนต์ได้ อย่างที่บอกว่าคอนเทนต์ของผมมันสร้างขึ้นมาจากความไม่มี เนื้อหาทุกชิ้นผมผลิตเองทั้งหมด มีคนช่วยค่ารถค่าน้ำมันบ้างแต่ก็ไม่ได้เยอะหรอก แล้วเราเองก็ไม่ได้เรียกร้องด้วย มีงานจ้างเข้ามาเหมือนกัน แต่เราก็คิดในราคาที่ต่ำมาก

‘อาคุงกล่อง’ สื่อมวลชนผู้ไร้ตัวตนแห่งวงการวรรณกรรม
Photo: อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

มีงานไหนที่คุณทำแล้วประทับใจบ้าง

          หลังจากคุณแม่เสียเมื่อปีก่อน ผมได้ออกต่างจังหวัดไปช่วยงานโครงการ Book Passport ซึ่งจัดโดยมูลนิธิวิชาตำราหนังสือร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เขาจะให้พาสปอร์ตมาเล่มหนึ่งเพื่อไปสแตมป์สะสมแต้มที่ร้านหนังสืออิสระแล้วมารับรางวัล เพื่อกระตุ้นให้คนไปอุดหนุนร้านอิสระเยอะๆ โครงการนี้มีร้านหนังสือเข้าร่วมกว่า 50 ร้าน แต่ครึ่งหนึ่งอยู่กรุงเทพฯ อีกครึ่งอยู่ต่างจังหวัด

          ผมชวนเพื่อนคนหนึ่งตระเวนทัวร์ภาคเหนือ ใต้ อีสาน ภาคตะวันออก นั่งเครื่องบินบ้างรถไฟบ้างแล้วเช่ารถขับไปร้านหนังสือ จากร้านหนึ่งไปอีกร้านหนึ่ง เสร็จแล้วก็กลับโรงแรม นอน ตื่นเช้ามาก็ไปร้านที่สามร้านที่สี่จบแล้วก็ไปต่อจังหวัดอื่น ไม่เที่ยวไหนทั้งนั้น ยกเว้นเวลาเจอวัดก็จอดแวะไหว้พระนิดหน่อย ตะลอนไปเหมือนคนบ้า งานนั้นหมดไปเกือบแสน 

          สิ่งที่ผมเจอคือร้านหนังสืออิสระทยอยล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ ยิ่งได้ไปเห็นร้านหนังสือในต่างจังหวัดซึ่งมันต่างจากกรุงเทพฯ มาก ผมก็เห็นใจ อยากช่วยเหลือ พอไปนั่งฟังเขาเล่าก็ยิ่งรู้สึกนับถือใจคนที่ศรัทธาในหนังสือ เขายืนหยัดมากกว่าเราอีก 

9 ปีที่ไปทำข่าวตามงานต่างๆ คุณมองว่าวงการหนังสือบ้านเรามีเรื่องอะไรให้น่ากังวลบ้าง

          ผมคิดว่าทุกวันนี้คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง แม้จะมีผู้หลักผู้ใหญ่บางคนพยายามอธิบายว่าไม่จริง เพราะเขาเปลี่ยนแพลตฟอร์มการอ่าน เปลี่ยนวิธีการอ่านต่างหาก แต่ความหมายที่แท้จริงของการอ่านที่เราเข้าใจกันคือการอ่านระหว่างบรรทัด ยุคนี้คนส่วนใหญ่หันไปอ่านในออนไลน์ที่เขาสรุปทุกอย่างมาให้ มันไม่ทำให้เรามีสมาธิเหมือนการอ่านหนังสือสามร้อยหน้า 

          ที่ผ่านมาผมได้ทักษะการเข้าใจผู้คนก็เพราะอ่านวรรณกรรมแล้วเข้าใจตัวละคร แต่ถ้าเด็กรุ่นใหม่ไม่อ่านหนังสือ ไม่อ่านวรรณกรรม ไม่ได้อ่านอะไรที่นอกเหนือจากตำรา โตขึ้นมาเขาจะอยู่รอดในสังคมได้ค่อนข้างลำบาก อยู่ตัวคนเดียว ไม่ออกจากบ้านไปเจอใครเลย เล่นแต่เกม เสพทุกอย่างผ่านออนไลน์ อายที่จะสบตาคนอื่น มันอาจเป็นปัญหาในอนาคตได้

‘อาคุงกล่อง’ สื่อมวลชนผู้ไร้ตัวตนแห่งวงการวรรณกรรม
Photo: อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

วางแผนอนาคตตัวเองไว้อย่างไร คิดจะทำอีกนานแค่ไหน

          ผมเคยมีอาชีพมา 30 ปีแล้ว คำว่าอาชีพคือเรารับเงินเดือนมาเพื่อเลี้ยงตัวเอง แต่วันนี้เรากำลังทำเพื่อคนอื่นและไม่ได้เงินตอบแทน  เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำอยู่มันจึงไม่ใช่อาชีพ แต่ผมก็ไม่ยืนยันว่าจะทำไปจนวันตายนะ วันหนึ่งเงินทุนหมดก็คงเลิก แล้วกลับไปเขียนหนังสือตามที่คิดฝันไว้ตั้งแต่แรก 

          ผมบอกตัวเองเสมอว่าสิ่งที่ผมทำมันยังอยู่ในเส้นทางของการเป็นนักเขียน การที่ผมไปสัมภาษณ์นักเขียนนักแปลมันก็เหมือนกำลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ ตอนนี้ก็คิดว่าตัวเองเดินอยู่บนเส้นทางนักเขียนเพียงแค่ว่าไม่ได้เดินสง่างามอยู่กลางถนน อาจจะเดินอยู่ขอบๆ แต่สักวันหนึ่งผมอาจจะเลิกแล้วไปเขียนหนังสือเต็มตัวก็ได้ 

ถ้าวันหนึ่งเลิกทำจริงๆ อยากให้คนจดจำคุณแบบไหน

          ย้อนกลับไปคิดดูอีกที บางครั้งเพื่อนผมที่มาช่วยงานยังหัวเราะเลยว่า เออว่ะ พวกเราแม่งไม่มีตัวตนจริงๆ ขนาดเลิกงานปุ๊บ คนเขาลุกไปกินข้าวกันหมด เรายังมัวมานั่งเก็บขาตั้งกล้อง ไม่มีใครสนใจ เพราะฉะนั้นผมไม่คาดหวังให้คนมาจดจำตัวผมหรอกครับ แต่ผมอยากให้คนมาจดจำในสิ่งที่ผมทำมากกว่า

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก